Normal Curve มีประโยชน์อย่างไร ?

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 

ถ้าจะมีคนถามผมว่า “normal curve” มีประโยชน์อย่างไร ?

ผมจะตอบว่า…ใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับควบคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือจ่ายโบนัส ตามผลงานครับ

หลักการของ normal curve ไม่ใช่การหวงเกรดนะครับ ต้องบอกเสียก่อนตรงนี้ เพราะถ้าใครไม่เคยต้องรับผิดชอบงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีนี่จะไม่มีวันเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้หรอกครับ เช่น บริษัทที่ยังมีนโยบายที่ให้ MD หรือให้เถ้าแก่เป็นคนขึ้นเงินเดือนคนทั้งบริษัท แล้วให้ line manager แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่แค่เพียงประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกน้อง จากนั้นจึงส่งผลประเมินทั้งหมดมาให้ HR กับ MD ร่วมกันทำหน้าที่ “หยอด” เปอร์เซ็นต์ หรือเม็ดเงินให้กับพนักงาน ตามเกรดที่หัวหน้าประเมิน

โดยที่ line manager ไม่เคยจะต้องมายุ่งเกี่ยวกับการควบคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีนี่จะเกิดปัญหาคับข้องใจกับ normal curve กันเยอะเลยครับ

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้าฝ่ายบริหารอนุมัติลงมาว่า ปีนี้ให้งบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีมา 5% นั่นหมายความว่า ถ้าสมมุติว่าทั้งบริษัทมี total payroll อยู่ 10 ล้านบาท ปีนี้บริษัทจะต้องคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือนไม่ให้เกิน 500,000 บาท

นั่นแปลว่าคนที่มีผลงานในเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐานทั่วไป จะได้รับการขึ้นเงินเดือน 5% แต่ถ้าใครมีผลงานดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ยก็อาจจะได้ 8% หรือดีเยี่ยมมาก ๆ ก็อาจจะได้ 10% เท่า ๆ กับคนที่มีผลงานแย่กว่าเกณฑ์เฉลี่ย อาจจะได้ขึ้นเงินเดือน 2-3% และคนที่ไม่มีผลงานอะไรเลยอาจจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน

จากแนวคิดนี้จะนำมาสู่การกระจายของ normal curve โดยการขึ้นเงินเดือนตามผลการประเมิน เช่น A=10% B=8% C=5% D=3% E=0% ลองคิดดูสิครับว่า…ถ้า line manager ไม่ต้องรับผิดชอบการควบคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีจะเกิดอะไรขึ้น ?

ก็ประเมินลูกน้องให้ได้เกรด A หมดทุกคน แล้วส่งผลประเมินมาที่ HR ไงล่ะครับ !!

แน่นอนว่าพอ HR เห็นผลประเมินอย่างนี้มันเกินงบฯ ก็จะต้องส่งผลกลับไปให้ line manager ตัดเกรดใหม่ โดยพูดถึง normal curve ว่าจะต้องให้คนส่วนใหญ่มีผลประเมินอยู่ในค่าเฉลี่ยคือ C และต้องมีส่วนน้อยถูกประเมินในเกรด A หรือ B คือคนที่มีผลงานดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และอาจจะมีพนักงานส่วนน้อยที่ถูกประเมินในเกรด D หรือ E คือคนที่มีผลงานต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่ถ้า line manager ไปบอกกับลูกน้องว่า …พี่ประเมินน้อง ๆ ของพี่ให้ได้ A หมดทุกคนแหละ เพราะน้องพี่เก่งยอดเยี่ยมทุกคน แต่ HR บอกว่าเกินงบฯให้พี่ตัดเกรดน้องลงเป็น C เป็นส่วนใหญ่นะ พี่ก็ต้องทำตามนโยบาย ไม่รู้มันจะหวงเกรดอะไรกันนักหนา มีปัญหาอะไรก็ไปถามHR เองก็แล้วกัน

นี่คือปัญหาสำหรับองค์กรที่ยังไม่จัดสรรงบประมาณขึ้นเงินเดือนไปให้ line manager บริหารจัดการ แล้วยังคงให้ HR เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมงบประมาณแบบนี้อยู่ ก็คงจะต้องเจอปัญหาดราม่าแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และ HR จะถูกด่าเรื่องหวงเกรดอยู่ทุกปีแหละครับ

เพราะ line manager ไม่ต้องรับผิดชอบในการควบคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือนนี่ครับ ถึงได้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น

ฉะนั้น วิธีที่ควรทำ คือ ควรจะต้องจัดสรรงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีไปให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ และทำหน้าที่ทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานของตัวเอง แล้วเป็นคนใส่เงินเดือนให้กับลูกน้องของตัวเอง ตามผลการปฏิบัติงานที่ประเมินไป

และที่สำคัญ คือ ต้องไม่เกินงบประมาณที่ให้ไปหัวหน้าจึงควรจะต้องมีส่วนร่วมในการควบคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือน และให้คุณให้โทษลูกน้องของตัวเอง ไม่ใช่ยกหน้าที่นี้ไปให้ HR หรือ MD เป็นคนไปตัดสินใจแทนหัวหน้า เพราะ HR หรือ MD ไม่มีทางไปรู้รายละเอียดการทำงานของพนักงานดีกว่าหัวหน้าโดยตรงหรอกครับ

ยกตัวอย่าง เช่น ฝ่ายผลิต มีเงินเดือนของพนักงานในฝ่ายผลิตรวม 500,000 บาท ถ้าบริษัทบอกว่างบประมาณขึ้นเงินเดือนปีนี้ของบริษัท คือ 5% ฝ่ายผลิตจะต้องไปประเมินผลการทำงานของพนักงานในฝ่ายผลิต แล้วหยอดเงินเดือนให้พนักงานในฝ่ายของตัวเองให้สัมพันธ์กับผลการประเมิน แต่ต้องไม่เกินงบประมาณที่บริษัทจัดสรรไปให้ คือ 25,000 บาท

ถ้าจะว่าไปแล้ว การจัดสรรงบประมาณประจำปี (ตามตัวอย่างข้างต้น) ให้กับหัวหน้าแต่ละหน่วยงานพิจารณาให้คุณให้โทษลูกน้องของตัวเอง ก็เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์แหละครับ

เพราะหลักเศรษฐศาสตร์จะบอกว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ล้วนมีอยู่อย่างจำกัด (งบประมาณขึ้นเงินเดือนก็เช่นกัน) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่คงไม่สามารถทำให้คนทุกคนพึงพอใจมากที่สุดได้หรอก

normal curve จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการงบประมาณที่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัดที่ line manager ทุกฝ่ายจำเป็นต้องใช้ครับ