หางานผ่านเว็บพุ่ง 77 ล้านครั้ง “ดิจิทัล-กราฟิก-ภาษา” ค้นหาสูงสุด

"พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์" ผู้จัดการ บริษัท จัดหางานจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)จำกัด

หลังจากที่ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการ 400 ราย และคนทำงาน 1,400 ราย ถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า กลุ่มคนเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท ที่ทำงานในองค์กรขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนักสุด ผลกระทบส่วนใหญ่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างรายได้ของคนทำงาน ไม่ได้รับการปรับเงินเดือน มิหนำซ้ำบางรายยังถูกลดเงินเดือนลงถึง 10-20% ของรายได้ ขณะที่ผลกระทบหนักสุด คือ 25% ของคนทำงานมีจำนวน 9% ถูกเลิกจ้าง

โดยในส่วนของการประกาศหางานของผู้ประกอบการ หรือองค์กรต่าง ๆ ในตลาดเมืองไทย เมื่อเดือน เม.ย.ลดลงไปราว 35% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดพบสัญญาณบวกในการจ้างงานจากฝั่งผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า โดยผู้ประกอบการบางส่วนเปิดเผยว่าอยากจะจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่หลายรายอยากจะจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า สัญญาณดีมานด์แรงงานกำลังจะฟื้นตัวกลับมา

“พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์” ผู้จัดการ บริษัท จัดหางานจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาคนมีความต้องการหางานเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ พ.ค. 2562 ถึง พ.ค. 2563 มีการค้นหางานจากเว็บไซต์หางานมากกว่า 77 ล้านครั้ง และในช่วงเดือน พ.ค. 2563 มีการค้นหางานเพิ่มขึ้นอีก 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้งยังมีการค้นหาคำแนะนำงานถึง4 ล้านครั้ง

“ในช่วงปีที่ผ่านมามีการค้นหางานเพิ่มขึ้น ซึ่งพฤติกรรมการค้นหาส่วนใหญ่พบว่าเป็นลักษณะงานที่ทำได้จากที่บ้าน โดยมีการค้นหาคำว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้น 36% กราฟิกดีไซเนอร์เพิ่มขึ้น 20% และงานที่ต้องใช้ TOEIC หรือทักษะภาษาเพิ่มขึ้น 15% และยังพบอีกว่านับตั้งแต่ช่วงแรกของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มีการค้นหางานด้านไอทีเพิ่มขึ้น 12% โดยตำแหน่งที่ค้นหา ได้แก่ ผู้จัดการทั่วไป, ผู้จัดการโครงการ, นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น”

“สิ่งที่เราเห็นคือตำแหน่งงานด้านไอที ดีมานด์ และซัพพลายยังไม่เคยพอ เพราะมีการประกาศรับสมัครพนักงานบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่า องค์กรหลาย ๆ แห่งเริ่มปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และอยากมีแอปพลิเคชั่นของตนเอง ดังนั้นจึงต้องการทีมงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้มากขึ้น ในขณะที่จำนวนคนสมัครยังน้อย”

“พรลัดดา” กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่จ๊อบส์ ดีบี พูดคุยกับองค์กรต่าง ๆ และผู้ประกอบการหลายแห่งที่ให้ความสนใจกับสายงานด้านไอทีพบว่า มีองค์กรบางแห่งเปิดรับสมัครพนักงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไอทีเข้ามาทำงานในประเทศไทย ขณะที่บางแห่งให้พนักงานต่างชาติทำงานในประเทศตนเอง โดยเป็นการทำงานระยะไกล (re-mote working) สื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีเป็นหลักแสดงถึงงานไอทีที่กำลังมาแรง

“จึงเป็นเหตุให้ในช่วงครึ่งปีหลังผู้ประกอบการส่งสัญญาณเตรียมประกาศจ้างงานในกลุ่มงานไอทีมากขึ้นพร้อม ๆ กับงานด้านการตลาดประชาสัมพันธ์, งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ, งานต้อนรับ และงานจัดซื้อ ส่วนสายงานที่คาดว่าจะยังมีการประกาศน้อยมองว่าเป็นธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจยานยนต์ เพราะถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเหมือนเดิม เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้เป็นสินค้าที่มีราคาสูง ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องคิดทบทวน ตัดสินใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมากขึ้นดังนั้น สินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันจึงต้องงดก่อน อันเป็นเหตุให้สายงานดังกล่าวมีผลต่อการประกาศจ้างงาน”

นอกจากนั้น “พรลัดดา” ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า หลายองค์กรในหลายอุตสาหกรรมมีจำนวนใบสมัครงานเพิ่มสูงขึ้นในช่วง พ.ค. 63 คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ส่วนมากเป็นนักศึกษาจบใหม่ และคนทำงานที่อยากจะเปลี่ยนสายงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากใบสมัครงานพบว่า ธุรกิจ trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (trading and distribution) มีอัตราการเติบโต ค่าเฉลี่ยใบสมัครงานต่อ 1 ประกาศงาน เมื่อเทียบกับ พ.ค. 62เพิ่มเป็น 121% ปัจจัยน่าจะมาจากความนิยมของคนในการซื้อของออนไลน์มากขึ้น และงานที่เกี่ยวข้อง คือ ด้านโฆษณา, ประชาสัมพันธ์, การตลาด, ค้าปลีก, ขายส่ง

“นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง (freight forwarding,delivery, shipping) ธุรกิจบริการอาหารเครื่องดื่ม (food and beverage) ธุรกิจ catering หรือการรับจัดงานนอกสถานที่ ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จำนวนใบสมัครงานก็สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังจึงเป็นโอกาสที่องค์กรจะประกาศรับเด็กจบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานทั่วไป ทั้งนั้นความคาดหวังขององค์กรที่มีต่อเด็กจบใหม่ไม่ใช่ประสบการณ์ สิ่งที่ย้ำเสมอคือเด็กจบใหม่จะต้องมีทักษะภาษา ไม่เฉพาะเด็กจบใหม่ แต่รวมไปถึงคนทำงานทุกคน เพราะเป็นประตูในการเปิดโอกาสให้ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมไปถึงความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตนเองเรียนมา และความกระตือรือร้นอยากทำงาน”

“พรลัดดา” กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าจ้างในช่วงหลังจากโควิด-19 นั้น มองว่าการให้เงินเดือนจะยังไม่กลับมาเฟื่องฟูนัก โดยผู้ประกอบการจะยังคงใช้นโยบายเรื่องเงินเดือน เช่นงดการขึ้นเงินเดือน, งดจ่ายโบนัส ฯลฯ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาอีกครั้ง โดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่การรับพนักงานใหม่ขององค์กรขนาดใหญ่ยังไม่มีนโยบายลดเงินเดือน หรือปรับฐานเงินเดือนให้ลดลง แต่จะทบทวนมากขึ้นว่าสายงานนี้จำเป็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงการพิจารณาเรื่องการจ้างงานมากขึ้นในบางตำแหน่งด้วย

“สถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้ขวัญกำลังใจของพนักงานลดลงสิ่งที่องค์กรต้องฟื้นฟูกลับมาให้ได้คือ การสร้างความสัมพันธ์ หรือความจงรักภักดี (engatement) ระหว่างองค์กร และคนทำงานเพิ่มขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น หรือความมั่นคงในการทำงานให้มากขึ้น ที่สำคัญคือการทำงานในยุคนิวนอร์มอล องค์กรต้องเริ่มมองหาความสมดุลในชีวิตการทำงาน”

“นอกจากนั้นยังมองเทรนด์การสมัครงานว่า การหางานหรือสมัครงานทางออนไลน์จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น จะไม่มีการเดินหา หรือไปสมัครงานที่บริษัทโดยตรงเหมือนสมัยก่อน เพราะตอนนี้เว็บไซต์หางานเพิ่มขึ้น อย่างจ๊อบส์ ดีบี เรามีการพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ตลอด เรามีเทคโนโลยีเอไอช่วยคนที่เข้ามาหางานให้ได้งานตรงความต้องการเร็วขึ้น และเราจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเว็บไซต์องค์กรจำเป็นต้องปรับปรุงอยู่เสมอ ไม่ใช่มีแล้วไม่สนใจ”

“ที่สำคัญ จ๊อบส์ ดีบี ยังคงมุ่งมั่นในการทำให้คนไทยมีงานทำมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการทำงาน และมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้คนที่ตรงกับทักษะความสามารถที่ต้องการธุรกิจเราต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่าเศรษฐกิจของไทยจะดำเนินต่อไปได้จีดีพีจะเพิ่มขึ้นมาจากหลายส่วนส่วนหนึ่งคือธุรกิจในไทยมีการทำธุรกิจไปได้ด้วยดี ซึ่งการทำไปได้ด้วยดีมีหลายปัจจัย และคนก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้ผลประกอบการขององค์กรเหล่านั้นประสบความสำเร็จในที่สุด”