การเรียน การสอนในอนาคต

เรียนออนไลน์
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
โดย ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี

ข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า มีนักเรียนที่ขาดเรียนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลในแต่ละประเทศประกาศปิดสถานศึกษาเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด จนทำให้เวลาเรียนที่สูญเสียไปอาจส่งผลระยะยาวต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของประเทศ การชดเชยเวลาเรียนที่สูญเสียไปจึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก ๆ ที่รัฐบาลและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษาจะต้องคำนึงถึง และถึงแม้สถานศึกษาในประเทศไทยส่วนใหญ่เปิดการเรียนการสอนไปแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่ยังดูเหมือนว่าเด็ก ครู และผู้ปกครองยังคงต้องปรับตัวและอยู่กับการเรียนการสอนวิถีใหม่ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีใครรู้กำหนดเวลาที่แน่นอน เนื่องจากยังต้องติดตามการแพร่ระบาดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

การระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงที่นักเรียนในหลายจังหวัดมีโอกาสเรียนกับสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television-DLTV) ซึ่งอาจเป็นครั้งแรกสำหรับหลาย ๆ คน โดยจำแนกการสอนแบ่งตามระดับตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ DLTVได้เปิดให้บริการมานานกว่า 25 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่เน้นสอนนักเรียนที่อยู่ในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยขยายและยกระดับการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น ขณะนี้นักเรียนทุกระดับชั้นสามารถเรียนผ่านโทรทัศน์หรืออุปกรณ์พกพาอื่น ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น Zoom, WebEx และ Google Classroom เป็นต้น

อย่างไรก็ดี DLTV ยังมีอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนการสอนที่ต้องอาศัยระบบไฟฟ้า การขาดปฏิสัมพันธ์และการตอบสนองระหว่างผู้สอนและนักเรียน สัดส่วนของผู้ขาดเรียนสูงทำให้ยากต่อการจัดการ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยี แต่อุปสรรคที่สำคัญมากอย่างหนึ่งต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคลากรเป็นหลัก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้กับครูผู้สอน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีสิ่งที่นำมาใช้ลดช่องว่างในการสูญเสียความต่อเนื่องทางการศึกษาและความตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

สำหรับภาคอุดมศึกษา สถาบันต่าง ๆ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์แตกต่างกันไปตามความจำเป็น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้กลยุทธ์ของคณะ “ผศ.ดร.เขมะฑัต วิภาตะวนิช” รองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จ (HCI) และแพลตฟอร์มคลาวด์ของนูทานิคซ์มาใช้เพื่อรองรับเวิร์กโหลดของคณะตั้งแต่ปี 2558

โดยในช่วงแรกมีการใช้เวอร์ชวลแมชีน และติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนจำนวน 50เวอร์ชวลแมชีน และใช้งานสำนักงานและงานวิจัยตามปกติอีกประมาณ80 เวอร์ชวลแมชีน ช่วยให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่สามารถใช้งานแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยเหล่านี้ได้จากทุกที่ทุกเวลา เพราะเทคโนโลยีนี้ช่วยให้เกิดความแตกต่างได้อย่างไรในช่วงวิกฤต

ช่วงวิกฤตโควิด-19 เทคโนโลยีที่คณะนำมาใช้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่มี โดยคณะสามารถขยายบริการเพื่อรองรับภาวะวิกฤตได้ถึง 100% เนื่องจากต้องปิดการเรียนการสอนในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนการสอบและปิดเทอม คณะได้รับการร้องขอและได้เพิ่มการใช้งานแบบเวอร์ชวลแมชีนอีก 50 เวอร์ชวลแมชีนอย่างราบรื่นโดยระบบไม่ติดขัด เพื่อสนับสนุนการสอบออนไลน์

นอกจากนี้ ระบบของคณะยังช่วยให้บุคลากรสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้จากทุกสถานที่บนระบบคลาวด์ที่เสถียรและเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องบุคลากรจากความเสี่ยงหากต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่คณะ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังช่วยเร่งและเพิ่มขีดความสามารถของคณะในการนำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดการปรับกฎระเบียบเพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้พร้อมสำหรับการเติบโตหรือรับมือกับวิกฤตอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการอย่างทั่วถึง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดการศึกษา

ในขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19ยังคงทำความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศ ผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้นำด้านความคิดกำลังค้นพบวิธีใหม่ ๆ เพื่อต่อกรกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป และถึงแม้ว่าจะเป็นภาวะ “ปกติ” ผู้นำด้านการศึกษาก็ยังจำเป็นต้องนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้เพื่อสร้างการเข้าถึงกระบวนการการเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษาและจากระยะไกล

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีผลต่อระบบการศึกษาอย่างมหาศาล แต่ภาคการศึกษาก็ยังคงต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนอย่างมาก คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทน มนุษย์หรือไม่ หากแต่เป็นมนุษย์เองที่ควรจะเรียนรู้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร (หรือเราอาจจะเรียกได้ว่า technology ก็คงได้) เพราะรากฐานที่แข็งแกร่งทางการศึกษากับรากฐานทางเทคโนโลยี

การพึ่งพาเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการมุ่งสู่การเติบโตเท่านั้น หากเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ในอดีตจะเป็นบทเรียนสอนเราในด้านไหนได้บ้าง สิ่งเหล่านั้นคือการติดขัดจากความไม่ยืดหยุ่น ไม่คล่องตัว และความล้มเหลวของระบบที่ทำงานอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียและข้อติดขัดตามมามากมาย และจะทวีความรุนแรงอีกหลายเท่าในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและวิกฤตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต