“ดีแทค” ทิ้งให้ดี ก้าวสู่ Zero Landfill ปี 2565

โทรศัพท์มือถือนับเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเติบโต และมียอดขายสูงกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือมากถึง 97 ล้านเบอร์ และทุก ๆ ปีมีโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ถูกจำหน่ายประมาณปีละ 14 ล้านเครื่อง

โดยสัดส่วนราว 100,000 เครื่องต่อปี เป็นของผู้ใช้มือถือครั้งแรก เท่ากับว่าโทรศัพท์มือถือเก่าประมาณ 14 ล้านเครื่องต่อปี ถูกแทนที่ด้วยเครื่องใหม่ ทำให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ครองสัดส่วนสูงที่สุดถึง 65% จากจำนวนขยะอันตรายมีพิษทั้งหมด

จากผลสำรวจพฤติกรรมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้งานแล้วในประเทศไทยของสำนักสิ่งแวดล้อม พบว่า ประชาชนร้อยละ 50% เลือกขายให้กับผู้รับซื้อของเก่าที่นำไปแยกชิ้นส่วน เพื่อเลือกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าไปขายต่อ และกำจัดซากขยะที่เหลือ ด้วยการทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย และก่อให้เกิดปัญหามลพิษ นอกจากนั้น สถิติของกรมควบคุมมลพิษแถลงสรุปภาพรวมปี 2561 ระบุว่า ขยะอันตรายมีพิษได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น

ดังนั้น “ดีแทค” ในฐานะองค์กรธุรกิจที่ให้บริการด้านโทรคมนาคม ทั้งยังเป็นผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ตระหนักถึงความรุนแรงของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสุขภาพของคนไทย จึงจัดทำโครงการ “ดีแทค ทิ้งให้ดี” เพื่อยกระดับมาตรการการจัดการซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เชื่อมต่อในประเทศไทย

“อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กร และความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านโทรคมนาคมส่วนใหญ่มาจากโครงข่ายสัญญาณ เฉพาะปี 2562 ดีแทคสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 213,476 ชิ้น

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กร และความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กร และความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

แบ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากผู้ใช้งานทั่วไป จำนวน 46,221 ชิ้น คิดเป็น 21% และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายโครงข่าย 167,255 ชิ้น หรือคิดเป็น 79% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เก็บได้

ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากหน่วยงานภายในดีแทค อย่างศูนย์บริการดีแทคและสำนักงานส่วนใหญ่เป็นเครื่องโทรศัพท์มือถือสำหรับทดลองใช้ อุปกรณ์เสริมที่ตกรุ่น เป็นต้น เรามีหน่วยงานทำหน้าที่ตรวจสอบจำนวนและสภาพของอุปกรณ์ หากยังมีสภาพดีอยู่จะนำกลับมาใช้ซ้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ส่วนที่เสื่อมสภาพถาวรแล้วจะเข้ากระบวนการกำจัดและรีไซเคิลต่อไป”

“โครงการดีแทค ทิ้งให้ดี จึงเป็นหนึ่งในความพยายามสู่เป้าหมาย zero landfill หรือลดการฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ภายในปี 2565 ของดีแทค ตามนโยบายด้านการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสภาวะอากาศ (environment management system and climate) เรามุ่งมั่นนำขยะมือถือจากผู้ใช้งาน ไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และทำให้ไม่มีเศษขยะเหลือไปฝังกลบ โดยประชาชนสามารถทิ้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วได้ที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศูนย์บริการดีแทค 51 สาขาทั่วประเทศ”

“อรอุมา” อธิบายต่อว่า ดีแทคเริ่มดำเนินการจัดเก็บซากขยะโทรศัพท์มือถือเก่าเข้าสู่ระบบรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2555 โดยทำงานร่วมกับเทส (TES) ที่เป็นผู้นำการดำเนินธุรกิจด้านการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบภายใต้นโยบาย zero landfill ระดับโลก ภายใต้มาตรฐาน ISO14001, OSHAH18001, ISO9001 และ ISO27001

“เทสเป็นหนึ่งในบริษัทรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคเลือกให้จัดการขยะอย่างมีความรับผิดชอบ เราเลือกพาร์ตเนอร์รีไซเคิลตามนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้า และบริการ ด้วยการประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงนามในเอกสารว่าด้วยข้อตกลงในการปฏิบัติธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (agreement of responsible business conduct) และต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 ที่ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม”

“ทั้งยังต้องระบุประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัด หรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงต้องมีใบรับรองมาตรฐาน NIST 800-88R1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจคงค้างอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”

“โดยดีแทคมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (supply chain sustainability management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล ทั้งยังมีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ”

“ส่วนเทสจะทำหน้าที่รับซากโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จากโครงการดีแทค ทิ้งให้ดี ไปที่โรงงาน และทำการตรวจนับ และชั่งน้ำหนักเพื่อรายงานจำนวน น้ำหนัก และสถานที่รับ เพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบและยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บ”

“และจะทำการคัดแยกวัสดุตามประเภทหลัก ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ, แบตเตอรี่, หูฟัง, สายชาร์จแบตเตอรี่, พาวเวอร์แบงก์ เป็นต้น เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก เช่น โทรศัพท์มือถือ หลังการแกะแยกจะทำการบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท”

“ดังนั้น วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่สิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง, พาราเดี้ยม, เหล็ก, อะลูมิเนียม, ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป”

กล่าวได้ว่า 96-98% ของขยะทั้งหมดที่ดีแทคเก็บได้ จะนำเข้าสู่กระบวนกำจัดที่ถูกต้อง ทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด, ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมถึงการไม่ทิ้งเศษซากขยะเพื่อให้เกิดขยะฝังกลบอีกด้วย

ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2558 ดีแทคจึงเก็บขยะมือถือได้ถึง 1,774,338 เครื่อง เพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 22,330,044 กิโลคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2,481,116 ต้น

นอกจากนั้น “อรอุมา” ยังเล่าถึงผลกระทบของการทิ้งขยะมือถือรวมกับขยะทั่วไป หรือขายให้กับผู้รับซื้อของเก่าที่กำจัดขยะมือถืออย่างไม่ถูกวิธีว่า ที่ ต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งประกอบกิจการรับซื้อของเก่า โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ในประเทศ มีผู้ประกอบการคัดแยกรายย่อย 72 ราย ใน 10 หมู่บ้าน เป็นบริเวณที่ชาวบ้านใช้คัดแยกทองแดงออกจากจออิเล็กทรอนิกส์ และมีปริมาณขยะที่คัดแยก 249 ตันต่อสัปดาห์

“โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 11 เก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน และตัวอย่างดิน 4 จุด พบสารหนู และตะกั่วเกินค่ามาตรฐานของดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย และเกษตรกรรมอยู่ 1 จุดที่สาธารณะ (โคกขอนแก่น) ดังนั้น ถ้าประชาชนทิ้งขยะมือถือรวมกับขยะทั่วไป หรือขายให้กับผู้รับซื้อของเก่าที่กำจัดขยะมือถืออย่างไม่ถูกวิธี จะส่งผลต่อพื้นที่โดยรวมของประเทศไทยที่จะต้องเผชิญอันตรายจากสิ่งเหล่านี้

“ดิฉันจึงอยากส่งเสริมให้ลูกค้า และผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อนที่รั่วไหลจากซากอุปกรณ์เหล่านี้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเกิดเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง”