บริบท “ดูอินไทย” นวัตกรรมงานวิจัยดิจิทัลเพื่อสังคม

ดูอินไทย

“จากการเดินทางทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อครั้งทำกิจกรรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย กระทั่งเรียนจบ ผมเห็นว่าปัญหาสังคมมีเยอะมาก ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทต่างประเทศ และหันกลับมาทำงานที่ประเทศไทย เพื่อก่อตั้งดูอินไทยขึ้นมา ด้วยความหวังว่าจะนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยเหลือสังคม”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นคำพูดของ “ดร.สุทัศน์ รงรอง” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้น หลังจากลาออกจากงานประจำเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งดูอินไทยในปัจจุบันเป็นองค์กรวิจัย หรือ R&D (research and development) ที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่เมื่อปี 2552 แต่จดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 2556

ดร.สุทัศน์ รงรอง
ดร.สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด

“ดร.สุทัศน์” กล่าวว่า ผมเรียนจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ผมทำงานบริษัทที่ต่างประเทศ ทั้งยังเคยเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิศวกรซอฟต์แวร์เครือข่ายวิจัยข้อมูลจากอวกาศองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) (AZ, USA 2555) โครงการประมวลผลภาพและโมเดลสภาวะโลก ห้องปฏิบัติการประมวลผลภาพอวกาศ (Space Imagery Laboratory)

“ผมเคยเดินทางไปสอนเทคโนโลยีให้กับเด็กต่างจังหวัดในหลายพื้นที่ ทำให้เห็นว่ายิ่งเดินทางมากเท่าไหร่ยิ่งพบปัญหาสังคมมากเท่านั้น ตอนก่อตั้งบริษัท ช่วงนั้นเรื่องกิจการเพื่อสังคม social enterprise (SE), ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคม (benefit corporation) กำลังมาแรง”

“แต่ผมมองว่าถ้าบริษัทของเราเป็น SE จะมีโอกาสบิดเบือนง่าย ฉะนั้น การจัดการคือเมื่อก่อตั้งบริษัทก็สร้างพันธกิจ วิสัยทัศน์ ให้ชัดเจนว่าเราคือบริษัททำวิจัย และพัฒนาสังคม จากนั้นจึงเริ่มชักชวนคนรู้จักเข้ามาร่วมงาน โดยวางเงื่อนไขข้อเดียวคือครอบครัวต้องรับได้ เพราะบริษัททำงาน 365 วัน แบ่งเป็นใน 1 เดือน เดินทางไปไหนก็ได้ทั่วประเทศ ตามโปรเจ็กต์ที่เราอยากทำ 15 วัน และอีก 15 วันกลับมาทำงานด้วยกันในออฟฟิศ”

“การทำงานกับสังคมมีผลกระทบต่อชีวิตคนอื่น ถ้าเราไม่ออกไปเจอผู้คนเลยจะไม่เข้าใจบริบทที่แท้จริง ผมใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาปรับใช้ และใช้เครือข่ายคอนเน็กชั่นกับนักวิจัยต่างประเทศมาช่วยซัพพอร์ตองค์ความรู้บ้างในบางผลงาน ทำให้ตลอดระยะเวลาหลายปีผ่านมา ตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นบริษัท ผมและเพื่อน ๆ มีโอกาสพัฒนาระบบหรือแอปพลิเคชั่นหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ”

“ดร.สุทัศน์” ยกตัวอย่างระบบบริการดิจิทัลเพื่อตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการเกษตร และการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกนำไปใช้งานกับบริษัทกาแฟระดับโลกแห่งหนึ่งที่เพิ่งหมดสัญญา ซึ่งเป็นระบบที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเมล็ดกาแฟในประเทศเคนยา ถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียง และมีมาตรฐานการผลิตในระดับต้น ๆ

ทั้งนั้นเพื่อตรวจสอบกาแฟทุกเมล็ดว่าเก็บเกี่ยวมาจากพื้นที่ใด สายพันธุ์อะไร คนเก็บกาแฟอายุต่ำกว่า 13 ปีหรือไม่ หรือการส่งออกกาแฟจากเคนยามาที่อเมริกา มาด้วยเครื่องบินรหัสอะไร ยี่ห้ออะไร ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ พอมาถึงอเมริกาจุดคั่วกาแฟ ใช้ไฟเท่าไหร่ แล้วกาแฟคั่วซองนั้นปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เท่าไหร่ รวมถึงเงินที่บริษัทกาแฟจ่ายไปทำให้ชีวิตของคนแอฟริกาใต้ดีขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ทำไมถึงกล้าขายแก้วละ 200-300 บาท

“ซึ่งเราก็อยู่เบื้องหลังมา 6-7 ปีแล้ว จนกระทั่งปัจจุบันพัฒนามาใช้ในไทยแห่งแรกเป็นระบบมีลฟิกชั่น (Mealfiction.com) คือ เครื่องมือนำเสนอเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่ไร่หรือฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร รวมทั้งโปรเจ็กต์การพัฒนาบริการเชิงสังคม และความยั่งยืนด้านอาหาร Food Giving ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นเป็นครั้งแรก”

“โดยร่วมกับ S&P และ Sustainable Brands Bangkok ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่ง Food Giving ต่อยอดมาจากแอปการแบ่งปันอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหาร นำไปให้คนยากจนที่ผมออกแบบกับกลุ่มเพื่อนขึ้น และถูกนำไปใช้ในเคนยาแล้ว 8 ปี ซึ่งก็เป็นการร่วมกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในเคนยาที่อยู่ในเมือง ถูกส่งออกไปให้กับคนที่ยากไร้รอบเมือง สุดท้ายนำกลับมาใช้ในไทย ได้ทำแคมเปญช่วงปี 2559 เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยรู้จักการบริหารจัดการอาหารผลิตให้เพียงพอต่อการจำหน่ายซึ่งเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้ในที่สุด

“ดร.สุทัศน์” กล่าวต่อว่า ด้วยการจัดสรรอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในแต่ละวันจากร้านอาหารเพื่อส่งมอบให้ชุมชนที่มีความต้องการอาหาร เช่น บ้านพักคนชรา, เด็กกำพร้า, มูลนิธิผ่าตัดโรคหัวใจในเด็ก, มูลนิธิคนพิการ, คนขอทาน ฯลฯ ผ่านการสุ่มตรวจสอบคุณภาพอาหารจากนักโภชนาการแยกอาหารให้เป็นส่วน ๆ โดยอาศัยระบบการขนส่งที่ร่วมกับกลุ่มภาคีผู้พัฒนากระบวนการขนส่งสินค้า ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่กับหลาย ๆ แบรนด์ร้านอาหาร ซึ่งความคาดหวังของโปรเจ็กต์นี้เราไม่อยากให้ยั่งยืน เพราะถ้ายั่งยืน แสดงว่าร้านอาหารยังไม่มีการบริหารจัดการการผลิตที่เพียงพอ

“ล่าสุดบริษัทกำลังพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศให้กับเกษตรกร เพราะเรื่องฟ้าฝน พายุ หากเป็นคนทั่วไปจะไม่เดือดร้อนมาก แต่สำหรับเกษตรกรนั้นสร้างความเสียหายมหาศาล เช่น สวนลองกองของเกษตรกรจันทบุรี สมมุติว่าพรุ่งนี้จะมีรถมารับลองกองที่สวน เขาจะได้เงินแน่ ๆ 50,000 บาท แต่คืนนี้ฝนตกทั้งคืน ลองกองดูดน้ำเข้าไปจนเกิดความเสียหาย รายได้เป็นศูนย์บาททันที”

“ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราพัฒนาระบบตรวจอากาศขึ้นมา เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งเราทำตัวเครื่องสำหรับติดตั้ง 2 เครื่อง และพัฒนาระบบร่วมกับเครือข่ายต่างประเทศ เพราะโปรเจ็กต์นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเอกชนไทย และตอนนี้ติดตั้งที่ประตูน้ำคลองภักดีรำไพ ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี อีกเครื่องเพิ่งติดตั้งเมื่อปลายปี 2563 ที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี โดยการทำงานของระบบจะถูกตรวจสอบสภาพพื้นที่ และถูกส่งไปให้องค์กรพยากรณ์อากาศโลกในอเมริกา และเขาจะส่งข้อมูลกลับมาให้บอกว่าพยากรณ์อากาศในอนาคตควรเป็นอย่างไร”

จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเครื่องจะทำการตรวจวัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศทุก ๆ 15 วินาที ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันสามารถคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้แม่นยำกว่า 90% ที่ช่วงเวลา 6 ชั่วโมงล่วงหน้าในรัศมี 15 กม.รอบสถานี

“สำหรับโปรเจ็กต์นี้เริ่มเมื่อปี 2558 คาดว่าปี 2568 น่าจะสำเร็จ และน่าจะพยากรณ์อากาศได้แม่นยำสำหรับเกษตรกร 100% โดยเราไม่อยากบอกว่าภายใน 2 ปีเสร็จ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความคาดหวัง พอไม่ได้ตามแผน เกษตรกรจะไม่เชื่อเรา เราจึงตั้งเป้าหมายเอาไว้นาน ๆ ทั้งนี้ก็มีแผนจะขยายพื้นที่ แต่ความยากคือการวิจัย เพราะเราไม่ได้พัฒนาอย่างเดียว เนื่องจากใช้เวลานาน ที่สำคัญ การวิจัยคือการทำกับสิ่งที่ไม่รู้ ให้รู้”

อย่างไรก็ตาม หลายคนถามว่าเราทำธุรกิจแบบนี้ได้อะไร ?

“ดร.สุทัศน์” บอกว่า ได้ช่วยเหลือสังคม และได้สร้างความตระหนักรู้ ถ้าถามว่าคุ้มทุนไหม ต้องบอกว่าคุ้มค่าในวันที่เราได้เงินจากลูกค้า แต่เนื่องจากงานเป็นการวิจัย แล้วเมืองไทยหลายองค์กรที่เราทำงานด้วย เมื่อก่อนเขาชอบคิดว่าเราเป็นคนที่มีฮาวทู หรือมีโซลูชั่นอยู่แล้ว เพราะบริษัทส่วนใหญ่ซื้อโซลูชั่น ไม่ได้สนใจเรื่องการวิจัยมากเท่าไหร่ เพราะคำว่าวิจัย ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

“บริษัทจึงต้องลองทำไปก่อน ทำให้สภาพทางการเงินมีทั้งช่วงดีและไม่ดี เช่น เรามีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ต้องได้เงิน 2.5 ล้านบาท เอาจริง ๆ ในมุมบริษัทถือว่าไม่ได้เยอะมาก เพราะโครงการวิจัยต้องทำถึง 3 ปี ใช้เวลาเพื่อให้คำตอบลูกค้า ถึงจะรู้ว่าจะช่วยสังคมได้อย่างไร”

“เอกชนส่วนใหญ่ร้อยละ 99.99 ไม่มีเงินโดยตรงกับการพัฒนาอะไรที่อยู่นอกเหนือจากแคมเปญซีเอสอาร์ ยิ่งต้องรอนานถึง 3 ปี ฉะนั้นองค์กรส่วนใหญ่จึงไม่มองการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ซีเอสอาร์ เราจึงไม่ค่อยมีเงินเหลือเยอะ ส่วนใหญ่เรามีการจัดการเงินแบบ personal เป็นงบฯค่าที่ปรึกษา ในบริษัทไม่ได้ทำเรื่องงบการเงินที่หรูหราว่าไม่ใช่งบการเงินที่สะท้อนต้นทุน หรือขาดทุนเท่าไหร่”

“ดังนั้น การแก้ไขนับจากนี้ไป จึงต้องจัดระเบียบทางการเงินใหม่ แล้ววางแผนกระบวนการพัฒนาโปรเจ็กต์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องสร้างความสมดุลกับจุดยืนของบริษัท”

“เนื่องจากพอเป็นงานเพื่อสังคม ข้อเสียคือหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะมีชีวิตของคนอื่นเป็นตัวประกัน มีคำมั่นสัญญาที่ขึ้นอยู่กับสังคม ที่สำคัญ เขามีความคาดหวัง แต่ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือคนในชุมชน หรือกลุ่มคนที่เราทำงานด้วยต้องเห็นค่าของความยั่งยืนก่อน เพราะแม้จะนำเทคโนโลยีมาใช้ หากคนไม่เห็นคุณค่า ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และตอนนี้ยังมีหลาย ๆ โปรเจ็กต์ที่กำลังค้าง และเราอยากจะทำ ซึ่งคาดว่าต้องพัฒนากันต่อไปอีกในอนาคต”