“Gojek” เปิดตัวรายงานความยั่งยืนฉบับแรก

“โกเจ็ก” เปิดตัวรายงานความยั่งยืนฉบับแรก รายงานผลกระทบของธุรกิจต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม พร้อมกับประกาศเป้าหมายจะก้าวเป็นแพลตฟอร์มแบบ zero emissions (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์), zero waste (การสร้างขยะเป็นศูนย์) และ zero barriers ภายในปี 2030

เมื่อไม่นานมานี้ Gojek แพลตฟอร์มนำเสนอหลากหลายบริการแบบออนดีมานด์และบริการเพย์เมนต์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดตัวรายงานความยั่งยืนประจำปีฉบับแรก และเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดทำรายงานความยั่งยืน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้า และการนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) เพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนในอีโค่ซิสเต็มของบริษัท และสร้างการรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทั้งนี้ รายงานความยั่งยืนของ Gojek สอดคล้องกับมาตรฐานสากล Global Reporting Initiative – GRI (องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล) และ Sustainability Accounting Standards Board – SASB (คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีเพื่อความยั่งยืน) โดยข้อมูลที่เปิดเผยและเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ ได้รับการรับรองจากบริษัท ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ (PwC) อินโดนีเซีย

“เควิน อลูวี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Gojek กล่าวว่า การดำเนินงานของ Gojek ให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก คือ 1) ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม (ผ่านแคมเปญ GoGreener) เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างขยะเป็นศูนย์ 2) ความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ (ผ่านแคมเปญ GoForward) และ 3) ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของทุกคน (ผ่านแคมเปญ GoTogether) เพื่อความสำเร็จของเป้าหมายด้านการแบ่งแยกทางสังคมเป็นศูนย์

“องค์กรให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์แก่สังคมและการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งความมุ่งมั่นนี้อยู่ในดีเอ็นเอของ Gojek และเป็นเหตุผลที่หลายคนเลือกมาทำงานที่นี่ เมื่อธุรกิจเราเติบโตขึ้น ยิ่งจำเป็นมากขึ้นในการพัฒนาด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและวิธีที่จะวัดผล นี่คือเหตุผลที่เราขยายสเกลการดำเนินงานในด้านความยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหัวใจหลักขององค์กรเรา”

“อันเดร โซลิสต์โย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Gojek อธิบายว่า ภาคเอกชนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มลงมือแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งกำลังทำลายโลกและชุมชนของเราในขณะนี้ โดยGojek ได้เริ่มเดินหน้าทำตามเป้าหมายในหลายส่วน ซึ่งจะมีการประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลในด้านความยั่งยืนในทุกปี โครงการระดับนานาชาติที่ทำมี 3 ด้าน ดังนี้

GoGreener

  • การจัดทำรายงานบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดการขยะในทุกปี โดยเริ่มในปี 2021
  • เพิ่มฟีเจอร์ GoGreener ในแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นฟีเจอร์การชดเชยคาร์บอนประเภท B2C ครั้งแรกของโลกในแวดวงธุรกิจ ride-hailing
  • ศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำโครงการนำร่องในการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) โดยมีแผนจะเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า 100% ในปี 2030
  • เปิดบริการ GoTransit เพื่อผสานการเดินทางต่อแรก (first mile) และต่อสุดท้าย (last mile) เข้ากับการขนส่งมวลชน
  • ร่วมมือกับคณะกรรมการอำนวยการของ National Plastic Action Partnership (NPAPs) อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของ Global Plastic Action Partnership (GPAP)
  • โปรแกรมเก็บค่าช้อนส้อมเพิ่ม (paid cutlery) ช่วยลดการเกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปมากกว่า 13 ตัน (เริ่มตั้งแต่สิงหาคม 2013) และได้รวบรวมขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากกว่า 6.3 ตันไปรีไซเคิลผ่านโครงการนำร่องในปี 2019 และมีแผนจะดำเนินโครงกานำร่องอีกจำนวนมากในปี 2021

GoForward

  • ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวันของพาร์ทเนอร์คนขับกว่า 530,000 ราย ผ่านโปรแกรมสิทธิประโยชน์สำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ (Swadaya)
  • เพิ่มช่องทางหารายได้ให้แก่พาร์เนอร์คนขับผ่านการร่วมมือกับ PromoGo และการเปิดตัว GoCek
  • เปิดตัว GoFood Partners Community โดยมีพาร์ทเนอร์ร้านค้ามากกว่า 54,000 ร้านเข้าร่วม เพื่อช่วยขยายธุรกิจและพัฒนาทักษะการทำธุรกิจดิจิทัลขนาดย่อมและขนาดย่อย

GoTogether

  • ร่วมลงนามในสัญญายอมรับหลักการเสริมพลังสตรี (Women Empowerment Principles) ของสหประชาชาติ (United Nations – UN) เพื่อเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศ โดยการจัดสปีคกิ้งอีเว้นท์ที่มีผู้อภิปรายทั้งชายและหญิง
  • ก่อตั้งกลุ่มสำหรับพนักงานหญิงเพื่อช่วยส่งเสริมนโยบาย และโปรแกรมพัฒนาความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของทุกเพศสภาพ
  • ดำเนินการและสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพนักงาน โดยจัดตั้ง Employee Resource Groups

ทั้งนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น ทางบริษัทได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Advisory Council) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กร ได้แก่ องค์การเพื่อสตรีแห่งประชาชาติ (UN Women) ศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre of Energy) ภาคมหาวิทยาลัย และอีกมากมาย

“ดร.อลินเนตส์ อะดีค” (Allinnettes Adigue) หัวหน้าฝ่าย ASEAN Regional Hub แห่ง GRI กล่าวว่า การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรส่งผลดีต่อทั้งผู้คน โลก และประโยชน์ของบริษัทในระยะยาว เพราะว่าไม่มีใครสามารถประกอบธุรกิจได้บนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว

“ดังนั้นคำถามที่ว่าบริษัทควรจัดทำรายงานความยั่งยืนหรือไม่ คำตอบคือ รายงานความยั่งยืนเป็นทางออกระยะยาวอย่างแน่นอน แต่ปัญหาคือ รายงานพวกนั้นถูกต้อง ตรงประเด็น และสื่อสารอย่างชัดเจนถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่มีความจำเป็นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น”

“มาตรฐาน GRI เป็นกรอบการรายงานที่ได้รับการนำมาใช้มากที่สุดในโลก ไม่ใช่เป็นเพียงแผนการรายงานเท่านั้น แต่เป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกใช้บรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ไปจนถึงการประมาณ วิเคราะห์ และรายงานความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง”

มาตรฐาน GRI นี้จะช่วยให้บริษัทเลือกโฟกัสแต่ประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผ่านการนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณ การประเมินผลเชิงบรรยาย และระบบแบบ indicator-based”