วิสัยทัศน์ “แสนสิริ” ชู LGBTQ+ เพราะมนุษย์เราเท่ากัน

Circle of Equailty

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน เกิดเหตุความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่คลับเกย์สโตนวอลล์อินน์ กลางกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิ และความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer) โดยมีการเดินขบวนเรียกร้องครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ที่ 4 เมืองใหญ่ ทั้งนิวยอร์ก, ลอสแองเจลิส, ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

กระทั่งต่อมามีการกำหนดให้เดือนมิถุนายนกลายเป็น “เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ” หรือ “Pride Month” ทุก ๆ ปี ผู้คน หรือองค์กรทั่วโลกจึงจัดกิจกรรม แคมเปญ สนับสนุนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน อันเป็นสัญญาณที่ดี และสะท้อนว่าโลกยังพยายามเบนเข็มไปในทิศทางที่เปิดรับความหลากหลายมากขึ้น

“แสนสิริ” ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ทั้งยังเป็นบริษัทแรกในไทย และ 1 ใน 200 บริษัทชั้นนำทั่วโลก อาทิ ไมโครซอฟท์, โคคา-โคลา, เน็ตฟลิกซ์ และไนกี้ ที่ลงนามกับ UN Global Standards of Conduct for Business หรือมาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN)

เขียนขึ้นโดยสำนักงานของข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (Offices of the United Nations High Commissioner for Human Rights-OHCHR) เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม ลดการแบ่งแยก โดยมีเป้าหมายรณรงค์ 5 หลักการ ได้แก่

หนึ่ง เคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQ+ ในทุกการดำเนินการและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

สอง ขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อพนักงานที่เป็น LGBTQ+ ในสถานที่ทำงาน

สาม ให้การสนับสนุนเชิงรุก แก่พนักงานที่เป็น LGBTQ+ โดยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งช่วยให้พนักงานทุกท่านทำงานร่วมกันได้อย่างมีเกียรติ

สี่ ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจเกิดจากการกีดกันต่อลูกค้าคู่สัญญา คู่ค้า รวมถึงบุคคลอื่น ๆ

ห้า ผลักดันประเด็นเรื่องความเท่าเทียมอย่างเป็นสาธารณะ สนับสนุนให้เกิดข้อตกลงการปฏิบัติร่วมกัน กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยในสังคม หรือการให้ความสนับสนุนทางการเงินหรือปัจจัยต่าง ๆ ต่อองค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ+

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ เราไม่ได้มีความรู้ หรือความเชี่ยวชาญที่จะผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศมากนัก แต่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติมีมติสนับสนุน และรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นเวลานาน

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

“ดังนั้น เราจึงต้องการไกด์ไลน์ที่เป็นมาตรฐานจากเขา ซึ่งก็เป็นหลักการ 5 ข้อที่ได้ทำข้อตกลงนำมาใช้ในองค์กรก่อน เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ดีควรจะเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และลดการกีดกันในสถานที่ทำงาน ก่อนขยายสู่ลูกค้า พันธมิตร เนื่องจากมนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิ และโอกาสที่เท่าเทียมกัน”

“เริ่มตั้งแต่การรับสมัครพนักงาน หากไม่พิจารณาคนที่มีความสามารถจากทุก ๆ กลุ่มอย่างเท่าเทียมก็จะไม่สามารถมอบโครงการ และบริการดีที่สุดให้กับลูกค้าของเราได้ ฉะนั้น จึงต้องการเปิดกว้างให้ทุก ๆ คนมีโอกาสแสดงความสามารถ เพื่อจะทำให้เป็นองค์กรที่ให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง”

“เศรษฐา” กล่าวต่อว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ของการลงนามกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากดำเนินในองค์กรแล้ว แสนสิริยังขยายผลสู่ลูกค้า ด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายในการกู้เงินซื้อบ้าน เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันสังคมไทยให้การตอบรับในเรื่องเพศสภาพกันอย่างเปิดกว้างกว่าในอดีต

“แม้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนของคู่รักร่วมเพศ แต่กลุ่ม LGBTQ+ ยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันได้ อย่างการกู้ร่วมซื้อบ้าน ซึ่งก็มีหลายธนาคารที่สนับสนุนให้ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวสามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร แสนสิริก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับสถาบันการเงินต่อเนื่อง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารอื่น ๆ ผลตอบรับคืออัตราการปล่อยเงินกู้ก็สูงขึ้น ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“การเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายถือเป็นปัจจัยที่จะหนุนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่าองค์กรทุกแห่งสามารถสนับสนุนความหลากหลายได้หลายอย่าง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง แต่อย่างน้อยการรณรงค์ ส่งเสริมโดยเริ่มต้นภายในองค์กรก็เป็นเรื่องดี”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้แสนสิริขยายวิสัยทัศน์ปี 2021 สู่มุมมองด้าน “ความเท่าเทียมในทุกมิติ” ผ่านการเปิดตัวแคมเปญ “Live Equally : เราเท่ากัน” หวังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สังคมไทยเปิดกว้างยอมรับ LGBTQ+ และสร้างความเท่าเทียมกันในทุกมิติ

โดยเฉพาะตลอดเดือนมิถุนายนนี้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ อาทิ ลดตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของแสนสิริ จำนวน stack จาก 5 ชั้น เหลือเพียง 2 ชั้น เพื่อสะท้อนถึงเครื่องหมาย “เท่ากับ” (=) สื่อถึงความเท่าเทียม มี ArtInstallation ที่ Sansiri Backyard ใน T77 community พร้อมทั้งจัดงาน Graffiti Wall Art ที่โครงการสิริเพลส บางนา-เทพารักษ์ และเปลี่ยนโลโก้ HABITO community mall เป็นสีรุ้ง

นอกจากนี้ ยังขยายการรณรงค์ ด้วยการผนึกพันธมิตร 15 บริษัทชั้นนำในไทย ได้แก่ บุญถาวร, SHARGE, DIVANA, Ari Football, Gus Damn Good, ธนาคารไทยพาณิชย์, บางกอก โพสต์ (Bangkok Post), มติชน กรุ๊ป และ 7 บริษัทพันธมิตรคู่ค้าอสังหาฯ ได้แก่ All about Steel, K Tech, QS Innovation, นภัสนันท์, วิริยะสหกล, วีรษา และบริษัท อะเฮดออล จำกัด ลงนามในข้อตกลงกับองค์การสหประชาชาติ เช่นเดียวกัน

“เศรษฐา” ระบุว่า ระยะแรกของความร่วมมือกับ 15 พันธมิตร เป็นการทำให้ทุกคนเข้าใจ และนำข้อปฏิบัติ 5 หลักการไปใช้ ซึ่งทราบมาว่าหลายแห่งได้นำไปผนึกเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของบริษัทแล้ว จากนั้นค่อยดูว่าจะสามารถขยายการทำงานได้อย่างไร เพราะเป้าหมายของสหประชาชาติ คือ อยากทำให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศขยายออกไปสู่สังคมวงกว้าง

“ที่สำคัญ แคมเปญนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อขายสินค้า แต่อยากให้สังคมเข้าใจว่า ความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน และองค์กรธุรกิจจะต้องให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่เรื่อง LGBTQ+ อย่างเดียว แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมอีกเยอะ เช่น คนไทยส่วนมากยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนหรือแม้แต่การซื้อบ้าน การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และที่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมวันนี้อย่างเรื่องวัคซีนที่ยังกระจายไม่ทั่วถึง เนื่องจากการบริหารช้าหรือแม้แต่ความไม่เท่าเทียมด้านเศรษฐกิจ คนรวยก็รวยมากขึ้น คนจนก็ยิ่งลำบาก รายได้ยังลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด”

“ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเยียวยาหรืออะไรก็ตาม จะต้องทำให้เท่าเทียมทุก ๆ กลุ่มด้วย อย่างแสนสิริเอง เราเป็นบริษัทอสังหาฯ แม้ว่าธุรกิจหลักจะเป็นเรื่องของการซื้อขายบ้าน แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องให้ความสำคัญกับในทุกด้านของสังคม ถ้าสังคมไม่เท่าเทียมกัน การจะเดินไปข้างหน้าจะลำบาก เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน”

ขณะที่ “เรอโน เมแยร์” ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme : UNDP) กล่าวเสริมว่า การรณรงค์ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นปฏิญญาหลักสำคัญของโครงการพัฒนาสหประชาชาติ ที่ต้องการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมตั้งอยู่บนหลักการไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง

เรอโน เมแยร์
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme : UNDP)

“ดังนั้น หากดูภาพรวมเรื่องความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างเสรี และเปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่าประเทศอื่น ๆ พอสมควร แต่ผมคิดว่ายังสามารถเปิดหรือสนับสนุนได้มากกว่านี้อีก โดยเฉพาะการมีสิทธิ มีเสียง ในการแสดงออก แม้องค์กรธุรกิจหลายแห่งจะผลักดันมาบ้างแล้ว แต่ต่อไปเราต้องช่วยกันพัฒนาให้ถึงขั้นเป็นกฎหมายที่ถูกต้อง เช่น คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับเด็กมาเลี้ยงได้ หรือสามารถแต่งงานกันได้ถูกกฎหมาย รวมถึงการส่งทอดมรดก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักสำคัญ ถ้าหากเป็นไปได้ก็ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ทั้ง “แสนสิริ” และ “UNDP” ยังกล่าวด้วยว่า การให้สิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกับกลุ่ม LGBTQ+ การมีส่วนร่วม การให้เกียรติ และการไม่เลือกปฏิบัติ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน