เช็กสิทธิทบทวนเงินเยียวยา ม.33-39-40 เหลืออีก 10 วัน ยื่นก่อน 31 ต.ค.

ประกันสังคม 3

มาตรา 33, 39 และ 40 กลุ่มตกหล่นจากการรับเงินเยียวยา 2,500-10,000 บาท สามารถยื่นทบทวนสิทธิภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 ความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 ใน 9 ประเภทกิจการ แรงงานอิสระมาตรา 39 และแรงงานอิสระมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด​ (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนเงินเยียวยาผ่านเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนแล้วกว่า 9.17 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2564) แต่ยังมีผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข แต่ระบบขึ้นว่าไม่มีสิทธิกว่า 2 แสนคน

ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัย เช่น มาตรา 33 นายจ้างแจ้งประเภทกิจการไม่ถูกต้อง หรือนายจ้างไม่ได้แจ้งจดทะเบียนสาขา โดยสำนักงานใหญ่ของนายจ้างอยู่นอกพื้นที่ 29 จังหวัด แต่มีสาขาอยู่ใน 29 จังหวัด ทำให้ลูกจ้างสาขาไม่ได้รับสิทธิเยียวยา

หรือมาตรา 39 และ 40 มีชื่อหรือนามสกุลไม่ตรงกับฐานข้อมูลของประกันสังคม เพราะเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล หรือตอนสมัครมีการลงข้อมูลตัวสะกดชื่อผิด เป็นต้น โดยกลุ่มนี้สามารถยื่นทบทวนสิทธิเพื่อให้ทาง สปส.ตรวจสอบภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2564

วิธีนายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 ยื่นทบทวนสิทธิ ดังนี้

มาตรา 33 ใน 9 ประเภทกิจการ หมายถึง 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

โดยเงินที่นายจ้างได้รับคิดจาก 3,000 บาท คูณจำนวนลูกจ้าง 1 คน สูงสุดลูกจ้าง 200 คน หรือไม่เกิน 6 แสนบาทต่อเดือน ส่วนลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 2,500 บาทต่อคน

ทั้งนี้ กลุ่ม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา และกลุ่ม 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 13 จังหวัดนี้อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 2 เดือน จึงได้รับเงินเยียวยา 2 เดือน

ส่วนกลุ่ม 16 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 1 เดือน นายจ้างได้รับเงินเยียวยา 1 เดือน และลูกจ้างได้รับเงินเยียวยา 1 เดือน

วิธีผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 33 ยื่นทบทวนสิทธิ ดังนี้

  • โหลด “แบบคำขอทบทวนสิทธิโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40” ที่ลิงค์นี้
  • พรินต์แบบฟอร์มทบทวนสิทธิออกมา กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย และลงลายมือชื่อ
  • แนบเอกสารประกอบตามที่ระบุในแบบฟอร์ม เช่น แนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี)
  • นำส่งแบบฟอร์มตัวจริง และแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมระบุเบอร์โทรที่ติดต่อได้ แล้วไปส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนไปที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์)

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน และมีประกันสังคมมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน แล้วลาออกจากงาน หรือออกจากมาตรา 33 มาไม่เกิน 6 เดือน จากนั้นสมัครใจส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อ เพื่อรับสิทธิทดแทนและคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน (ตอนนี้ลดเหลือ 235 บาทต่อเดือน–พฤศจิกายน 2564)

การหลุดออกจากมาตรา 39 เกิดขึ้นเมื่อขาดการส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบแบบฟันหลอ คือไม่จ่ายเงินสมทบ 9 เดือนติดต่อกัน และเมื่อหลุดออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้วจะสมัครมาตรานี้อีกไม่ได้

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่สามารถยื่นทบทวนได้ต้องเป็นผู้ที่มีสถานะผู้ประกันตน หรือสมัครและจ่ายเงินตามระยะเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น

  1. ผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาก่อนวันที่ 28 มิถุนายน 2564
  2. กลุ่มสมัครใหม่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด ที่สมัครภายใน 31 กรกฎาคม 2564 และจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564
  3. กลุ่มสมัครใหม่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 3 จังหวัด และ 16 จังหวัด ที่สมัครและจ่ายเงินสมทบงวดแรกวันที่ 4-24 สิงหาคม 2564

มาตรา 39 และ 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และกลุ่ม 3 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 2 เดือน ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท รวมเป็น 10,000 บาทต่อคน ส่วนกลุ่ม 16 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 1 เดือน ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อคน


หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่กระทรวงแรงงาน โทร.1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน