หัวหน้าไม่ควรทำกับลูกน้อง

ประกอบบทความ
เอชอาร์ คอร์เนอร์

ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

ก่อนจะเข้าเรื่อง ผมขอทำความเข้าใจให้ตรงกันนะครับว่า คำว่า “หัวหน้า” นั้น ผมหมายถึง “คนที่มีลูกน้อง” ไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกเป็นทางการว่าอะไรก็ตาม เช่น จะเรียกว่า ลีดเดอร์, ซูเปอร์ไวเซอร์, ผู้ช่วยผู้จัดการ, ผู้จัดการ ฯลฯ หรือแม้แต่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือ CEO ขององค์กร ผมก็ขอเรียกว่า เป็น “หัวหน้า” นะครับ

เรื่องที่ผมเอามาแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ เป็นเรื่องที่เรามักจะพบเจออยู่เสมอ ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของหัวหน้า ที่เมื่อทำไปแล้วก็มักจะเกิดปัญหาตามมาอยู่เป็นประจำ ซึ่งบางครั้งหัวหน้าเหล่านั้นก็รู้ว่า ตัวเองไม่ควรทำแบบนั้น แต่หลายครั้ง หัวหน้าก็ไม่รู้หรือคิดไม่ถึง ว่าทำอย่างงั้นแล้วจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง

เรามาดูกันสิครับว่า มีเรื่องอะไรกันบ้าง ที่หัวหน้าไม่ควรทำ

1.ใช้ “หลักกู” กับลูกน้อง ทั้ง ๆ ที่บริษัทก็มี “หลักเกณฑ์” ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อลูกน้องขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หัวหน้าก็ต้องออกหนังสือตักเตือนตามระเบียบหลักเกณฑ์ของบริษัท ไม่ควรเลือกปฏิบัติโดยไม่ตักเตือนลูกน้องที่เป็นลูกรัก ส่วนลูกน้องที่เป็นลูกชังก็ตักเตือนตามระเบียบ

2.ประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้องแบบได้เท่ากันหมดทุกคน เช่น ประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกน้องโดยให้เกรด C เท่ากันทุกคนในแผนก ซึ่งทำให้ลูกน้องจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน และได้รับการพิจารณาโบนัสในอัตราที่เท่ากัน เพราะกลัวลูกน้องจะต่อว่า และไม่กล้าตอบคำถามลูกน้องคนอื่น ๆ ว่า ทำไมประเมินถึงให้เกรดไม่เท่ากัน หัวหน้าจึงต้องกล้าประเมินผลงานลูกน้องตามความเป็นจริง และกล้าชี้แจง feedback ลูกน้องด้วยเหตุผลในเรื่องงานให้ชัดเจน

3.ไม่สอนงานให้ลูกน้อง และไม่เคยสนับสนุนให้ลูกน้องก้าวหน้า ยังมีหัวหน้าอีกไม่น้อยเลยนะครับ ที่ไม่เคยสอนงานลูกน้องเลย ไม่เคยคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ในงานไปสู่ลูกน้อง เก็บงำความรู้ ตลอดจนข้อมูลสำคัญ ๆ ในงานเอาไว้ที่ตัวเอง เพราะมีทัศนคติแบบคับแคบว่า ขืนไปสอนงานให้ลูกน้องรู้งานมาก เดี๋ยวจะมาแทนที่เรา เดี๋ยวบริษัทก็เขี่ยเราออกกันพอดี ฯลฯ

4.ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง หัวหน้าประเภทนี้จะยึดเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ แม้จะมีการประชุมทีมงานกี่ครั้งกี่หน ตัวเองก็จะเป็นคนผูกขาดการพูดในที่ประชุมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อบอกให้ลูกน้องเสนอความคิดเห็นก็จะดูเหมือนรับฟัง แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นแบบ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ตัวเองคิดมาแล้ว หัวหน้าประเภทนี้จะจัดให้มีการประชุมเหมือนการ “แก้บน” เป็นพิธีกรรมปะหน้าเพื่อไว้บอกใครต่อใครว่า ฉันก็มีการประชุมทีมงาน ขอความคิดเห็นจากลูกน้องแล้ว เท่านั้นแหละครับ

5.โบ้ยความรับผิดชอบ ไม่คิดแก้ปัญหาและไม่กล้าตัดสินใจ หัวหน้าประเภทนี้จะคอยหลบเลี่ยงปัญหาอยู่ตลอด เช่น เวลามีหน่วยงานอื่นมาตำหนิต่อว่าเนื่องจากงานของเราผิดพลาด ก็จะให้ลูกน้องออกไปรับหน้าแทน แล้วตัวเองก็หลบอยู่เบื้องหลัง ถ้าลูกน้องแก้ปัญหาได้ก็จะไปเอาหน้ากับนายเหนือขึ้นไป แต่ถ้าลูกน้องตัดสินใจแก้ปัญหาผิดพลาดก็พร้อมจะโยนความผิดให้ลูกน้องทันที

6.ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ EQ มีปัญหา พฤติกรรมของหัวหน้าประเภทนี้ที่พบได้เสมอคือ ขี้โมโห จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง มีวาจาเป็นอาวุธและมีดาวพุธเป็นวินาศ ลูกน้องทำดีไม่เคยจำ ทำพลาดก็ไม่เคยลืม ฯลฯ

จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็อยากจะให้ท่านที่เป็นหัวหน้าลองกลับมา feedback ทบทวนตัวเองกันดูนะครับว่า ตัวเราเองมีพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้บ้างหรือไม่ ถ้ามี จะหาวิธีลดพฤติกรรมเหล่านี้ลงไปได้ยังไง เพื่อจะได้เป็นอานิสงส์ทั้งกับลูกน้องและองค์กร

รวมถึงการทำงานร่วมกันให้ราบรื่นดีขึ้น ส่วนท่านที่เป็นลูกน้อง แล้วเจอหัวหน้าที่มีพฤติกรรมอย่างที่ผมบอกมาข้างต้น ก็ถือคติที่ว่า

“เราเลือกหัวหน้าที่ดีสำหรับเราไม่ได้…แต่เราเลือกเป็นหัวหน้าที่ดีสำหรับลูกน้อง” ได้อยู่เสมอนะครับ

เมื่อท่านได้เจอหัวหน้าที่ไม่ดีกับเราอยู่ในตอนนี้ คำถามก็คือ แล้วเราจะเป็นหัวหน้าแบบไหนกับลูกน้องของเราล่ะครับ ?