ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม

คอลัมน์ : CSR TALK
ผู้เขียน : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
สถาบันไทยพัฒน์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 ก.พ.) สถาบันไทยพัฒน์ประมวลทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2565 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง CSR ปี 2565 : From Net Zero’ to Social Positive” เพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยงาน และองค์กรธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์จากรูปแบบการดำเนินงานทางธุรกิจที่ให้ผลบวกต่อสังคม และใช้พัฒนาแนวทางการสื่อสารข้อมูลผลกระทบทางบวกที่มีต่อสังคมให้เกิดประสิทธิผล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยความท้าทายใหม่ ๆ ในปี 2565 ทั้งปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งอิทธิพลต่อการเติบโตทางธุรกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม นอกเหนือจากผลพวงของสถานการณ์โควิดที่ยังส่งผลสืบเนื่องต่อในปีนี้

ภาคธุรกิจกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่อาจพึ่งพารูปแบบการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business as Usual) ในการเติบโตได้ดังเดิม หลายกิจการที่ได้รับผลกระทบจำเป็นที่จะต้องมองหา และพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ (Business as New Normal) ที่เอื้อต่อการเติบโตทางธุรกิจในแบบยั่งยืน และสามารถเสริมหนุนการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

แนวคิด “ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม” หรือ “Social Positive Business” ที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่มขึ้นในปีนี้ เชื่อว่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกไปพร้อมกันกับการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการยกระดับจากการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในรูปแบบของการบริจาคเงิน, สินค้า, บริการ ฯลฯ

และการเพิ่มระดับการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าอย่างเป็นธรรม ไปสู่การใช้ขีดความสามารถหลักทางธุรกิจในการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved) เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี จนเกิดเป็นผลบวกต่อสังคมกลุ่มเป้าหมาย

นับจากปีนี้ ประเด็น ESG (Environmental, Social and Governance) จะถูกนำมาใช้สื่อสารเป็นภาษากลางระหว่างกิจการกับผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับทราบถึงผลประกอบการทางธุรกิจ และผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะธุรกิจที่ร่วมสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม (Social Positive) และร่วมขจัดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม (Net Zero)

สำหรับธุรกิจซึ่งเข้าข่ายเป็น “Social Positive Business” ที่สถาบันไทยพัฒน์นำเสนอไว้ใน 6 ทิศทาง CSR ประจำปี 2565 ประกอบด้วย ธุรกิจระบบอาหารและการเกษตรแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture & Food System), ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology),

ธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (Renewable Resources & Alternative Energy), ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (Electric Vehicles & Components), ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อสังคม (Social Digital Assets) และ ธุรกิจเมตาแวร์เพื่อกลุ่มเปราะบาง (Metaware for Vulnerable Groups)

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Social Positive : Business as New Normal” เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อสังคมใน 3 หมวด ได้แก่

1) การให้ความช่วยเหลือที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมขึ้นภายหลังกระบวนงานทางธุรกิจ และเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือธุรกิจแกนหลักของกิจการ

2) การกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดผลบวกต่อสังคมขึ้นในกระบวนงานทางธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร ไปจนถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ

และ 3) การขยายขอบเขตการดำเนินงานไปเป็นกระบวนงานทางธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ที่ให้ผลบวกต่อสังคมจากธุรกิจแกนหลักของกิจการ

หน่วยงานและผู้สนใจที่ต้องการเอกสาร “6 ทิศทาง CSR ปี 2565 : From Net Zero’ to Social Positive” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยกระดับการดำเนินธุรกิจให้เกิดเป็นผลบวกต่อสังคม สามารถดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ www.thaipat.org (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป