โคคา-โคล่า – The Ocean Cleanup จับมือพันธมิตร ลดขยะพลาสติกเจ้าพระยา

โคคา-โคล่า และ The Ocean Cleanup เดินหน้าโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ จับมือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และอีโคมารีนจัดการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมติดตั้งเรือดักขยะ ที่บางกระเจ้าปลายปี 2565 นี้

วันที่ 1 เมษายน 2565 โคคา-โคล่า และ The Ocean Cleanup ลงนามความร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และอีโคมารีน ร่วมกันหาทางออกจัดการปัญหามลพิษพลาสติก ในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสักขีพยาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราทุกคนต่างตระหนักดีว่าขยะพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาที่น่ากังวลในระดับโลก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหามลภาวะพลาสติก

โดยก่อนหน้านี้เราถูกจัดอันดับเป็นประเทศอันดับที่ 6 ที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก แต่จากการประเมินผลล่าสุดประเทศไทยลดอันดับมาอยู่ที่อันดับที่ 10 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุดต่อไปตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ และผมมั่นใจว่าเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัทโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรระดับโลกรายแรกกับ The Ocean Cleanup ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินโครงการทำความสะอาดแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย เรากำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งใน 15 แม่น้ำสายสำคัญจากทั่วโลก ที่ทั้งสององค์กรจะร่วมมือกันในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทำความสะอาด และลดปัญหามลพิษจากขยะ ด้วยวิธีการสกัดกั้น และดักจับขยะพลาสติกจากแม่น้ำไม่ให้รั่วไหลลงสู่มหาสมุทร

โดยใช้นวัตกรรมเรือ Interceptor ของ The Ocean Cleanup เป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเรือเพื่อดักจับขยะบนผิวน้ำ โดย Interceptor รุ่นแรกเปิดตัวในปี พ.ศ.2562 และเป็นโซลูชั่นตัวแรกที่สามารถพัฒนาสู่การใช้งานจริงในวงกว้างเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกไหลจากแม่น้ำเข้าสู่มหาสมุทร

โคคา-โคล่า ประเทศไทยจะช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในการจัดการขยะที่รวบรวมได้ทั้งในส่วนที่รีไซเคิลได้ กับหาแนวทางจัดการส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกต่อไป

อย่างไรก็ดีโครงการทำความสะอาดแม่น้ำในประเทศไทยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในปีที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงลักษณะของมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการสกัดกั้นก่อนที่จะรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร

โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท อีโคมารีน จำกัด  ซึ่งจะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านเทคนิค อันจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางน้ำ และร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเรือ Interceptor จะสามารถเริ่มดำเนินการในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบริเวณใกล้กับคลองลัดโพธิ์ ในพื้นที่อำเภอบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565

มร.โบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกในมุมมองโกลบอลแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ประเทศที่พัฒนาช้า หรือประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยมีรายได้น้อย มลภาวะจากพลาสติกจะไม่ได้สูง

2.ประเทศกำลังพัฒนา มีรายได้ระดับปานกลางถึงรายได้สูง จะมีการจับจ่ายในปริมาณมาก จึงมีการใช้พลาสติกมากกว่า 3.ประเทศที่ผ่านปัญหาขยะมาแล้วและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะที่ล้น และเริ่มจะคิดดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและปล่อยขยะให้ได้น้อยที่สุด

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับขยะมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามาถูกทางแล้ว The Ocean Cleanup ก็พร้อมจะเป็นพาร์ทเนอร์พัฒนาแนวทางกำจัดขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้หมดไป เพราะภารกิจของ The Ocean Cleanup คือการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทร พร้อมกับภารกิจหยุดการรั่วไหลของขยะเกิดใหม่ในแม่น้ำไม่ให้ไหลสู่มหาสมุทรด้วยเช่นกัน

โดยผ่านการทำงานกับภาครัฐ ประชาชน และเอกชน เพื่อที่จะแก้ปัญหามลพิษจากขยะในแม่น้ำ 1000 สายทั่วโลก จึงถือเป็นเกียรติที่เราได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาของประเทศไทยที่กำหนดว่าจะลดขยะพลาสติกในทะเลลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2570 ด้วยการติดตั้งเครื่อง Interceptor รุ่นแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา

นายสุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าอีโคมารีน เรามีวิสัยทัศน์ในการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับการป้องกันมลพิษทางน้ำ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางทะเล เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

การมีส่วนร่วมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของ อีโคมารีน และ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ที่จะได้นำประสบการณ์ในการต่อเรือ การซ่อมแซมเรือ รวมถึงอุปกรณ์ องค์ความรู้ และบุคคลากรที่มีความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อมทางน้ำ มาช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาโซลูชันการทำความสะอาดแม่น้ำ โดยการแยกขยะพลาสติกออกจากแหล่งน้ำ

ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่าโครงการนี้ ตั้งเป้าว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยสำรวจ และตรวจสอบการแพร่กระจายหรือพฤติกรรมของขยะเมื่อไหลลงสู่ทะเล และจะมีการศึกษาวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกซึ่งเป็นสารอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตมนุษย์

ซึ่งเราก็ขับเคลื่อนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เรามีศูนย์วิจัยที่อยู่รอบ ๆ ทะเลทั่วประเทศ มีการทำงานหลายอย่างเกี่ยวกับทะเล โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักกับคนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลทะเล สอดส่องเรื่องการจัดเก็บขยะ

ตอนนี้มีชุมชนชายฝั่งที่ทำงานร่วมกับเรากว่า 20,000 คนแล้ว และก็ต้องพยายามดำเนินหลาย ๆ เรื่องควบคู่กันไป สิ่งที่โฟกัสมากที่สุดก็คือต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการทิ้งขยะแก่ประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้คนทิ้งขยะลงแม่น้ำ

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลอันดับ 6 ของโลก

แต่ความจริงแล้วขยะที่มาจากทะเลนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ไหลมาจากบนบก ถูกพัดพาโดยลมลงสู่แม่น้ำ และกระแสน้ำพาลงสู่ทะเล ดังนั้นทางออกคือเราต้องตระหนักถึงปัญหาขยะมากขึ้น เพราะมันเกิดจากพฤติรรมของมนุษย์ เราต้องช่วยกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล เพราะปัญหาคือประเทศเราไม่ได้สร้างขยะมากที่สุด แต่มีวิธีการจัดการที่ไม่ดี