นโยบายนายกฯ ชู Smart Farmer ช่วยเพิ่มรายได้กว่า 15,000 บาทต่อเดือน

รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น สนองนโยบายนายกฯ ชู Smart Farmer ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดเวลา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้กว่า 15,000 บาทต่อเดือน

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมด้าน Smart Farmer ให้แก่เกษตรกร ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้มีความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อลดรายจ่าย และวิธีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีนโยบายการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานนอกระบบให้เป็น Smart Farmer

เน้นให้จัดทำหลักสูตรที่สามารถพัฒนาทักษะความรู้ทางด้านช่างและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในการเกษตรให้สามารถลดต้นทุนการผลิต หรือสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ ได้รับรายงานจากนายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ว่าการดำเนินงานฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้กับการเพาะปลูกของตนเองได้

ซึ่งจะคัดเลือกหลักสูตรฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องรดน้ำระบบอัตโนมัติ การปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะ วิธีการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น สามารถช่วยให้กลุ่มเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ เช่น การใช้พลังงานจากแผงโซลาเซลล์แทนการใช้น้ำมัน การติดตั้งระบบอัตโนมัติ ช่วยให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งการรักษาอุณหภูมิในโรงเรือน ช่วยให้มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตกรมีรายได้มากขึ้น

“ผมได้กำชับและเน้นย้ำกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้วว่าให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะนี่เป็นอาชีพหลักของคนไทย แรงงานกลุ่มนี้ควรต้องมีความรู้และนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตรให้ได้ ทำในปริมาณที่น้อยแต่ต้องได้ผลผลิตให้มากขึ้น เป็นต้น”

Advertisment

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมผลการดำเนินโครงการ 1 จังหวัด 1 โครงการ 1 หลักสูตร ที่ดำเนินการฝึกเกี่ยวกับ Smart Farmer เพื่อพบปะพูดคุยสอบถามปัญหาอุปสรรคและความต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกรมจะได้นำข้อเสนอแนะหรือความต้องการของแรงงานในแต่ละพื้นที่ไปจัดทำโครงการส่งเสริมทักษะเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนต่อไป

“ในครั้งนี้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร และพิษณุโลก ติดตามการดำเนินงานและพบว่า กลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมได้นำความรู้ไปปรับใช้ในการเกษตรของตนเอง ช่วยให้มีผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการผลิตด้วย”

นายธนาภัทร คุ้มทรัพย์ ผู้ผ่านการฝึกอบรม การติดตั้งเครื่องรดน้ำระบบอัตโนมัติจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 8 นครสวรรค์ เล่าว่า ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในไร่นาสวนผสม ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับระบบสูบน้ำแทนการใช้น้ำมัน จึงสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อน้ำมันมาใช้กับเครื่องสูบน้ำรดพืชผักในไร่ได้ ซึ่งแต่ละเดือนจะต้องซื้อน้ำมันถึงเดือนละ 15,000 บาท ปัจจุบันก็ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแล้ว

Advertisment