ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง
เชสเตอร์ เบนนิงตัน (Chester Bennington) นักร้องนำวัย 41 ปีของวง ลินคิน พาร์ก (Linkin Park) เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เป็นพาดหัวข่าวใหญ่ระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา และยังอยู่ในความสนใจอย่างต่อเนื่อง
การเสียชีวิตของเชสเตอร์ เป็นเรื่องช็อกวงการและช็อกโลก เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการเพลง นำความเสียใจมาสู่แฟนเพลงของวงที่มีอยู่ทั่วโลก รวมไปถึงคนที่ไม่ใช่แฟนเพลงของวงแต่เคยร่วมยุคร่วมยุคสมัยอันเฟื่องฟูของพวกเขา โดยเฉพาะบรรดาคนที่เป็นวัยรุ่นยุค 2000s ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีไอคอนทางดนตรีชื่อ ลินคิน พาร์ก
ถ้าใครที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วในยุค 2000s หรือคนรุ่นหลังที่โตไม่ทันยุคนั้น อาจจะมีคำถามว่า ชื่อเสียงความโด่งดังของ ลินคิน พาร์ก ดังมากในระดับไหน? คำตอบก็คือดังที่สุดของยุคนั้น ดังแบบที่วัยรุ่นที่ไม่ได้ชอบฟังเพลงก็ยังรู้จัก ดังแบบมีอิทธิพลกับวัยรุ่นมากที่สุด มากกว่านักร้องพ็อปที่ดังที่สุดในตอนนั้น ดังแบบที่ในเมืองไทยของเราเพลงของ ลินคิน พาร์ก เป็นกระแสตามต่างจังหวัดที่ไม่ใช่แค่ในตัวเมือง แต่กระจายออกไปทั่วถึงชนบทนอกเมือง และจนวันนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีศิลปินต่างประเทศรายไหนเป็นที่รู้จักของคนเกือบทุกระดับอย่างที่ ลินคิน พาร์ก ทำไว้
ลินคิน พาร์ก เป็นวงดนตรีจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดตัวมากับดนตรีเมทัลผสมแรป มีซาวนด์สังเคราะห์ มีนักร้องนำสองคน เป็นความแปลกใหม่ในยุคนั้น ยุคที่ซาวนด์ดนตรีแบบของวง คอร์น (Korn) ซึ่งถูกนิยามว่านู เมทัล (Nu Metal) กำลังแผ่อิทธิพลอยู่ทั่ววงการดนตรีเมทัลรุ่นใหม่ฝั่งอเมริกา
ทันทีที่ 6 หนุ่ม ลินคิน พาร์ก เปิดตัวอัลบั้มแรกชื่อ Hybrid Theory ในปลายปี 2000 ดนตรีสุ้มเสียงใหม่ ๆ ของพวกเขาก็สร้างความเซอร์ไพรส์และได้รับการตอบรับท่วมท้น เพียงสัปดาห์แรกอัลบั้ม Hybrid Theory วางขายก็ทำยอดขายได้ 8 แสนก๊อบปี้ ครองอันดับ 1 บิลบอร์ดชาร์ต อัลบั้มนี้ทำยอดขายรวมถึง 30 ล้านก๊อบปี้ แล้วตอกย้ำความสำเร็จด้วยอัลบั้มที่สอง Meteora ที่ออกมาในช่วงต้นปี 2003 ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก
ลินคิน พาร์ก เป็นวงดนตรีนูเมทัลที่ดังมากที่สุด และมีส่วนพานูเมทัลขึ้นสู่ความสนใจกระแสหลักมากกว่าที่วงดนตรีนูเมทัลรุ่นพี่ทำไว้ ยืนยันด้วยคำพูดของ เฟรด เดิสท์ (Fred Durst) นักร้องนำ ลิมพ์ บิซกิต (Limp Bizkit) วงดนตรีนูเมทัลรุ่นพี่บอกว่า ดนตรีนูเมทัลจะไม่สามารถเข้าถึงและมีอิทธิพลต่อผู้คนได้มากขนาดนี้ถ้าไม่มีเชสเตอร์ เบนนิงตัน กับวงของเขา
ส่วนมุมมองขอคนฟัง เต๋า-ดุลยเกียรติ เลิศสุวรรณกุล นักร้องนำวง สวีท มัลเล็ท (Sweet Mullet) ซึ่งขณะนั้นเป็นวัยรุ่นที่ฟังดนตรีนูเมทัลมาก่อนแล้วหลายปี เล่าถึงปรากฏการณ์ตอนที่ ลินคิน พาร์ก แจ้งเกิดว่า
“ในตอนนั้นวงดนตรีที่เล่นดนตรีแบบที่เรียกว่านูเมทัล ส่วนใหญ่แล้วจะพยายามทำซาวนด์ หรือการวิธีเล่นแบบวงคอร์น แต่พอ ลินคิน พาร์ก ออกมาอัลบั้มแรก มันใหม่และประหลาดมาก ซาวนด์กีตาร์ ซาวนด์กลอง อะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ค่อยเหมือนนูเมทัล แต่จังหวะกับริฟฟ์กีตาร์เป็นนูเมทัล สร้างความงงว่าคือแนวอะไรกันแน่ ด้วยความที่มีซาวนด์สังเคราะห์ด้วย ก็เลยคิดว่าเป็นนูเมทัลที่ผสมอินดัสเทรียล วัยรุ่นยุคนั้นหลายคนก็งงว่า ลินคิน พาร์ก เป็นอะไรกันแน่ ตอนแรกคิดว่าเป็นบอยแบนด์ด้วยซ้ำ เพราะนูต้องดิบและเถื่อนกว่านี้ ลินคิน พาร์ก ซาวนด์สะอาด ลุกก็หล่อ ๆ แต่รวม ๆ แล้ว ลินคิน พาร์ก ก็เป็นนูเมทัลแหละ”
และดนตรีนูเมทัลแบบใหม่ของ ลินคิน พาร์ก ก็ทำให้คอเพลงนูเมทัลในแบบเดิมชอบได้ซะด้วย
“ฟังแล้วก็ชอบ ชอบแบบแปลก ๆ สองอัลบั้มแรกชอบมาก คิดว่าเด็กนูต้องอินกับสองอัลบั้มแรกของลินคิน พาร์ก” นักร้องนำวงร็อกผู้เป็น “เด็กนู” บอก
“ลินคิน พาร์ก ฉลาดคิด วิธีการเล่น มีนักร้องสองคน มีซาวนด์สังเคราะห์ เมโลดี้ติดหู ร้องตามได้ ทำดนตรีพ็อปกว่า ทำให้ตัวเองอยู่ในกระแสหลัก และดังนานกว่าวงอื่น”
นั่นคือการฉายภาพว่าวัยรุ่นที่โตกว่าซึ่งฟังดนตรีนูเมทัลมาก่อนรู้สึกตื่นตาตื่นใจและงงกับวงดนตรีหน้าใหม่ ซาวนด์ดนตรีแบบใหม่ในเวลานั้น
สำหรับอีกเจเนอเรชั่นต่อมา ที่พูดได้ว่า “โตมาด้วยกัน” กับ ลินคิน พาร์ก เป็นเจนเนอเรชั่นที่ได้รับอิทธิพลจาก ลินคิน พาร์ก มากที่สุด ก็คือคนที่เป็นวัยรุ่นตอนต้นในยุค 2000s ที่พอก้าวเข้าสู่ความเป็นวัยรุ่นปุ๊บก็เจอคลื่นความโด่งดังของ ลินคิน พาร์ก ซัดเข้าทันที บางคนอาจจะเจอตั้งแต่อัลบั้มแรก บางคนเด็กกว่านั้นมาเจอตอนเป็นกระแสสุดขีดช่วงออกอัลบั้มที่สอง
ในยุคนั้นที่อินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างตอนนี้ เด็กที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยรุ่นจะใส ๆ มา (เว้นแต่ว่าฟังเพลงของรุ่นพ่อแม่ รุ่นพี่มา) ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฟังเพลงอินเตอร์ ยังไม่มีศิลปินอินเตอร์ในดวงใจ ยังไม่มีไอดอลมาก่อน แล้วมาเจอ ลินคิน พาร์ก เป็นผู้เปิดโลกทางดนตรี ถือเป็นวงของยุคตัวเองจริง ๆ ไม่ใช่วงที่ดังมาก่อน ไม่ใช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากของรุ่นก่อน ๆ มา วงดนตรีวงนี้จึงสำคัญในความรู้สึกของวัยรุ่นยุค 2000s
เป็นธรรมดาของคนเราพอชอบวงดนตรีวงหนึ่งก็ศึกษาหาข้อมูล หาประวัติ หาที่มา รากเหง้า หาวงดนตรีอื่นที่คล้ายกัน หาวงดนตรีอื่นที่มีอิทธิพลหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงที่ตัวเองชอบ
ความนิยมในตัวลินคิน พาร์ก จึงทำให้เด็กที่โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นในยุคที่ดนตรีนูเมทัลกำลังจะซาความนิยมลงไป ได้หันไปสนใจฟังและศึกษาดนตรีนูเมทัลว่าก่อนหน้านี้เขาฟังอะไรกัน และวงนี้ได้รับอิทธิพลอะไรมาจากไหนบ้าง เหมือนเป็นการต่อลมหายใจให้คำว่านูเมทัลอยู่ต่อมาได้อีกหลายปี แม้ว่าต่อมาความเป็นนูเมทัลจางไปจากเพลงของลินคิน พาร์ก แต่คำว่านูเมทัลก็ยังผูกติดกับชื่อ ลินคิน พาร์ก มาตลอด และมีส่วนทำให้คนได้ที่ยินคำว่านูเมทัลสนใจกลับไปค้นหาศึกษาเกี่ยวกับดนตรีนูเมทัลต่อไป
แม้จะมีประเด็นที่ถกเถียงมาตลอดว่า ลินคิน พาร์ก ไม่ใช่นูเมทัลแท้ ด้วยความแตกต่างอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในดนตรีของ ลินคิน พาร์ก มีทั้งส่วนผสมที่เป็นนูเมทัลและส่วนผสมที่ไม่ใช่นูเมทัล
ถ้าเปรียบเทียบว่า ลินคิน พาร์ก เป็นดอกผลของดนตรีนูเมทัล พวกเขาก็เป็นดอกผลที่เบ่งบานงอกงามมากจนสามารถดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกสนใจโคนต้น จนกระทั่งขุดลงไปดูถึงรากเหง้า และพรวนดินใส่ปุ๋ยให้ดนตรีแนวนี้เป็นจำนวนมหาศาล