มหกรรมหนังสือเดือดสำนักพิมพ์แห่จองบูท คาดยอดขายพุ่ง 400 ล้าน

มหกรรมหนังสือ
แฟ้มภาพ : บรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา

ขาขึ้นวงการหนังสือ สำนักพิมพ์แห่จองพื้นที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 อัดแน่น 930 บูท 20,000 ตร.ม. คาดสำเร็จเหมือนปีที่แล้ว สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ต้องตัดใจตัดโควตา หวังยอดขายพุ่ง 400 ล้านบาท คนเข้างานทะลุ 1.6 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 12-23 ต.ค.นี้ ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ขึ้นระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม 2566 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีเพื่อนสมาชิกสำนักพิมพ์แห่จองพื้นที่บูทเป็นจำนวนมาก

จากการที่งานสัปดาห์หนังสือและงานมหกรรมหนังสือได้กลับมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หลังปรับปรุงเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งค่าพื้นที่บูท กระแส และความมั่นใจของเพื่อนสำนักพิมพ์ที่ยังไม่มากนัก

สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์
สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

จนกระทั่งงานหนังสือรอบล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งกระแส การประชาสัมพันธ์ การตลาด และจำนวนคนร่วมงานบูมขึ้นอย่างชัดเจน สำนักพิมพ์ก็ขายดีไปด้วย ส่งผลให้เกิดความมั่นใจกับงานมหกรรมหนังสือรอบนี้ บางสำนักพิมพ์เพิ่มบูทมากขึ้น โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ใหญ่ ส่วนสำนักพิมพ์หน้าใหม่ก็มาจองบูทเยอะขึ้น การบริหารและจัดสรรพื้นที่โดยสมาคม จึงเป็นไปด้วยความยากลำบากพอสมควร แต่ก็ผ่านไปด้วยดี

ตอนนี้มีบูทที่จะร่วมในงานมหกรรมหนังสืออย่างเป็นทางการมีจำนวนกว่า 930 บูท จาก 340 ผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ เต็มความจุ 3 ฮอลล์ใหญ่ บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร

ซึ่งทางสมาคมมีความจำเป็นต้องคัดสรรให้เพียงพอกับพื้นที่ จากเดิมที่มีผู้ขอใช้พื้นที่ 970 บูท สมาคมได้ตัดไปทั้งหมด 40 บูท โดยให้พื้นที่แก่สำนักพิมพ์หรือผู้ที่ทำหนังสือเป็นหลัก

สำหรับอัตราค่าเช่าบูทตลอดระยะเวลา 12 วันของการจัดงาน เริ่มที่หนึ่งบูทขนาด 3×3 เมตรในราคา 39,000 และจะขยับขึ้นตามลำดับดังนี้

• 2 บูท ราคา 40,000 บาท
• 3-5 บูท ราคา 41,000 บาท
• 6-9 บูท ราคา 42,000 บาท
• 10 บูท ราคา 43,000 บาท

นายสุวิชกล่าวอีกว่า ราคาข้างต้นเป็นหลักเกณฑ์ซึ่งใช้มาหลายปีแล้ว ไม่มีการปรับเพิ่มหรือลดลง และถือว่าไม่แพงหากเทียบกับงานอื่น ๆ เพราะทางสมาคมเป็นพันธมิตรกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการอ่านและสนับสนุนสำนักพิมพ์รายย่อยด้วยดีเสมอมา

กระแสการอ่านหนังสือตอนนี้ที่ตีกลับมาอย่างมีนัยสำคัญ คือ กลุ่มวัยรุ่นซึ่งแต่ก่อนอ่านอีบุ๊ก แต่ตอนนี้อ่านหนังสือเล่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะสำนักพิมพ์เองก็ปรับตัวสูงขึ้นมากเช่นกัน ทั้งการนำเสนอคอนเทนต์ที่ไม่ได้เป็นรูปเล่มอย่างเดียว แต่มีสิ่งจูงใจต่าง ๆ เพราะปัจจุบันหนังสือไม่ได้มีไว้อ่านอย่างเดียว แต่กลายเป็นของสะสมอย่างหนึ่ง

สอดคล้องกับกลุ่มคนที่เดินงานหนังสือมากที่สุดจากการสำรวจจากงานครั้งที่ผ่านมา คือ อายุ 20-40 ปี เป็นวัยรุ่น วัยจบใหม่ และวัยทำงาน ส่วนวัยผู้สูงอายุเริ่มเดินน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเพราะเรื่องสุขภาพและขนาดของพื้นที่จัดงานที่กว้างพอสมควร ซึ่งทำให้สำนักพิมพ์ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุต้องปรับตัวและมียอดขายที่ตกลงไปบ้าง

สำหรับเป้าหมายในงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 28 นี้ นายสุวิชกล่าวว่า ยอดขายน่าจะถึง 400 ล้านบาท และจำนวนคนเข้างานทะลุ 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน แต่กระแสบนโลกออนไลน์เพียงไม่กี่วันก่อนเริ่มงาน ทางสมาคมคาดว่าการเติบโตอาจจะพุ่งสูงกว่า 20% จากที่คาดไว้ก็เป็นได้

ด้วยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทางสมาคมก็มีแผนจะขยายฮอลล์ในการจัดงานเหมือนกัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับงานในครั้งนี้ด้วยว่าจะทำตามเป้าที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ ประกอบกับต้องสำรวจเพื่อนสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ว่าถ้าครั้งหน้าจะมา มีแผนอย่างไร จะมากี่บูท สมาคมถึงตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง นายสุวิชกล่าว

ทำอย่างไรให้หนังสือเป็นซอฟต์พาวเวอร์

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้หนังสือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ นายสุวิชกล่าวว่า คุณ “จรัญ หอมเทียนทอง” เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาวและอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาของสมาคม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ในด้านอุตสาหกรรมหนังสือ ซึ่งสมาคมได้เสนอรัฐบาลไป 3 ประเด็นหลักด้วยกันคือ

ประเด็นแรก อยากให้รัฐบาลตั้งสถาบันหนังสือขึ้นมา เพราะปัจจุบันการทำหนังสือเล่มหนึ่งถ้าเกิดปัญหาอะไรในกระบวนการ สำนักพิมพ์ไม่มีที่พึ่งพิง ไม่มีการสนับสนุน และไม่มีหน่วยงานที่มาดูแลรับผิดชอบอย่างจริงจัง

สมาคมจึงอยากให้จัดตั้งสถาบันหนังสือขึ้นเพื่อดูแลเรื่องการอ่านโดยเฉพาะ และอยากให้รัฐบาลมองการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ

ประเด็นสอง ขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการจัดงานหนังสือต่าง ๆ ทั้งในหรือต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนให้กับเพื่อนสำนักพิมพ์ เพราะปกติทางสำนักพิมพ์เองก็แบกรับภาระในการจัดพิมพ์มากพอแล้ว และต้องมารับภาระหรือความเสี่ยงจากค่าบูทอีกหรือการออกงานต่าง ๆ อีกก็คงยากลำบาก

ประเด็นสุดท้าย สมาคมอยากให้ขยายห้องสมุดไปทั่วประเทศ ซึ่งต้องทันสมัยด้วย เพราะแหล่งเรียนรู้ต้องมาจากห้องสมุด คนต้องมีที่อ่านหนังสือ เพราะการอ่านเป็นรากฐานของประเทศ ดังนั้นต้องสร้างห้องสมุดให้เข้าถึงทุกที่ทุกชุมชน

ปัจจุบันนี้ห้องสมุดไม่มีงบประมาณในการซื้อหนังสือ และทำได้เพียงขอเป็นผู้รับ ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศชัดเจนที่ห้องสมุดจะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ แต่ห้องสมุดในประเทศไทยกลับเป็นผู้ขอหนังสือรายใหญ่ ตรงนี้ต้องแก้ไขและมีงบประมาณให้ห้องสมุด

ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นที่ขอรัฐบาลไปจะทำให้อุตสาหกรรมหนังสือมั่นคง ก่อนที่จะกลายไปเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่พร้อมส่งออก

นายสุวิชยกตัวอย่างว่า หนังสือบุพเพสันนิวาสที่ถูกขายลิขสิทธิ์ไปแปลยังประเทศต่าง ๆ แม้จะได้ค่าลิขสิทธิ์ไม่มาก แต่รายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ต่างชาติแต่งชุดไทยมาอยุธยาและทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมของไทยยังขายได้ในต่างประเทศ เพียงแต่ภาครัฐยังไม่ได้ให้งบประมาณจริงจังในด้านนี้ อย่างการจัดงานมหกรรมหนังสือ ก็เกิดขึ้นจากงบประมาณของภาคเอกชนทั้งหมด

หลังได้รัฐบาลใหม่ สมาคมมีความหวังพอสมควร ยังพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากการที่รัฐบาลนำหนังสือเข้าไปเป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ดีใจที่รัฐบาลมองเห็น ถ้าจะทำให้หนังสือเป็นซอฟต์พาวเวอร์รัฐต้องลงมาดูอย่างจริงจัง และทำ 3 ข้อที่สมาคมเสนอไปให้ได้ก่อนจะต่อยอดไปยังส่วนอื่น ๆ นายสุวิชกล่าว