ศรีเทพ รากฐานบรรพชนไทย วัตถุโบราณในต่างแดน

ปรางค์ศรีเทพ
ปรางค์ศรีเทพ

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

“ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือมติชน ร่วมกับ สํานักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ศรีเทพ มรดกโลกในไทยและในต่างแดน !” วิทยากรโดย “รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร” และ “ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“ประชาชาติธุรกิจ” เก็บไฮไลต์ของงานเสวนามาฝากกัน พาทุกคนไปรู้จักกับ “ศรีเทพ” อย่างเจาะลึกมากขึ้น หลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไรในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมไปถึงการขอคืนวัตถุโบราณจากศรีเทพที่ไปอยู่ยังต่างแดน

รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าวว่า เมื่อก่อนยังไม่ค่อยมีใครรู้จักศรีเทพ จนกระทั่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก สัณฐานและผังเมืองของศรีเทพสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ศิลปะและการตั้งถิ่นฐานอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเมืองศรีเทพตั้งขึ้นโดยอาศัยภูมิประเทศเป็นหลัก รูปร่างไม่เป็นเรขาคณิต สอดคล้องไปตามเนินดินและลำน้ำ มีผังเมืองคล้ายแคปซูล และมีวงกลมซ้อนอยู่ เรียกว่า “เมืองใน” กับ “เมืองนอก” ซึ่งบ่งบอกว่ามีการตั้งถิ่นฐานและสร้างเมืองใหม่หลายครั้ง

เมืองในมีลักษณะผังกลมไปตามภูมิประเทศ เหมือนเมืองในสมัยทวารวดี ช่วง พ.ศ. 1100-1300 ที่มีการขุดคูน้ำ คันดินเป็นแนวล้อมชุมชนเพื่อป้องกันเมืองหรือใช้เก็บกักน้ำ และมีการสร้างศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ “เขาคลังใน” และกลุ่มโบราณสถานแบบเขมรอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการวางผังออกไปนอกเมืองด้วย ซึ่งก็คล้ายกับสมัยทวารวดี

ปรางค์สองพี่น้อง
ปรางค์สองพี่น้อง

ความน่าสนใจคือ เมืองสมัยทวารวดีแม้จะตั้งบนที่ดอน แต่จะมีคูเมืองเชื่อมต่อกับลำน้ำธรรมชาติ แต่ศรีเทพไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้จะมีลำน้ำป่าสักที่ห่างออกไป 3-4 กิโลเมตรทางตะวันตก แสดงว่าเมืองนี้ถูกตั้งขึ้นบนพื้นที่ที่ถูกเลือกแล้ว ว่าไม่ต้องสัมพันธ์กับเส้นทางน้ำก็ได้ แต่อาจสัมพันธ์กับเส้นทางการคมนาคม หรือเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาค

“เชื่อว่าการสร้างเมืองศรีเทพบนพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดกันดารน้ำ หรืออาจเป็นพื้นที่เกิดอุทกภัยได้ด้วย เพราะห่างจากลำน้ำป่าสักพอสมควร ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักช่วงฤดูแล้งกับน้ำหลากจะต่างกันมาก คนสมัยนั้นน่าจะรู้ว่าถ้าตั้งริมแม่น้ำเกินไปคงไม่ปลอดภัย ในเมืองจึงมีการขุดสระน้ำต่าง ๆ ที่เอาไว้เก็บกักน้ำ”

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร
รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ศรีเทพ ศูนย์รวมศิลปกรรม

รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าวอีกว่า ใจกลางเมืองในของศรีเทพเป็นศูนย์รวมของงานศิลปกรรมที่เป็นศาสนสถานสำคัญอย่างน้อย 3 แห่ง ใน 2 ยุคสมัย สมัยแรกคือทวารวดี เมื่อประมาณ พ.ศ. 1100-1300 ได้แก่ “เขาคลังใน” และสมัยที่สองคือ วัฒนธรรมแบบเขมร ที่มีการสร้างปราสาท ได้แก่ “ปรางค์ศรีเทพ” และ “ปรางค์สองพี่น้อง”

เขาคลังใน เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี มีลักษณะแบบวิหาร พบร่องรอยสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์คุปตะและปาละในอินเดีย ที่เรียกว่าเขาคลัง เพราะเป็นเนินดินสูงขึ้นไปเหมือนภูเขา และบริเวณนี้พบโบราณวัตถุมีค่าจำนวนมาก

ศรีเทพยังเป็นศูนย์กลางของงานช่างด้วย ซึ่งได้รวบรวมแบบแผนศิลปะจากดินแดนต่าง ๆ ไว้ เพราะเป็นเมืองที่เชื่อว่ามีเศรษฐกิจดี สภาพสังคมจึงเติบโตตามไปด้วย ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบงานสกุลช่างชั้นครูซึ่งรับมาจากต้นแบบในอินเดีย เช่น ลายกนกผักกูดที่เขาคลังใน ซึ่งมีเหมือนอินเดียทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตร

อีกแห่งคือ “เขาคลังนอก” ซึ่งเป็นสถูปสมัยทวารวดี มีการตกแต่งที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ ลักษณะของเขาคลังนอกที่เห็นเป็นเพียงส่วนฐานเจดีย์เท่านั้น ส่วนองค์เจดีย์เหลือเพียงร่องรอยการก่ออิฐ

วัฒนธรรมร่วมที่พบในระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับเขาคลังนอกคือ แนวคิดการสร้างศาสนสถานบนฐานที่เป็นชั้น ประดับด้วยซุ้ม และกระเปาะที่ยกออกมา ซึ่งพบตั้งแต่ศิลปะปาละของอินเดีย ประมาณ พ.ศ. 1200 และแพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธหรือพราหมณ์

แนวคิดการบูชาศาสนสถานบนฐานเป็นชั้นมาจาก “ลัทธิบูชาภูเขา” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สำหรับเขาคลังนอกเชื่อว่าเป็นการจำลอง “เขาถมอรัตน์” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกเมืองมาไว้ในเมือง โดยผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมอินเดียเหนือและอินเดียใต้ไว้ด้วยกัน

ศรีเทพจึงเป็นรัฐที่อยู่ภายใน (hinterland) ซึ่งสะท้อนผ่านทำเลที่ตั้งและศิลปกรรมที่มาจากหลายแห่ง บ่งบอกได้ว่าศรีเทพติดต่อกับอินเดียเหนือในลุ่มน้ำคงคาตั้งแต่ราชวงศ์คุปตะและปาละ ติดต่อกับอินเดียใต้สมัยราชวงศ์ปัลลวะและราชวงศ์โจฬะผ่านการค้าทางทะเล

ส่วนดินแดนใกล้เคียง ศรีเทพติดต่อกับเมืองทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น นครปฐม คูบัว ลพบุรี และกลุ่มคนในลุ่มน้ำมูล รวมทั้งที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน และยังติดต่อกับศูนย์กลางวัฒนธรรมเขมรในลุ่มน้ำโตนเลสาบของกัมพูชา ตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร ซึ่งกินอาณาบริเวณมาถึงปากแม่น้ำโขงแถบกัมพูชาตอนใต้และเวียดนามด้วย

ถ้าให้เปรียบเทียบ ศรีเทพจึงคล้ายเมืองรุ่นหลังอย่างสุโขทัย ที่ตั้งอยู่ลึกในแผ่นดิน และอยู่บนเส้นทางการคมนาคมหรือการค้า ศิลปะที่พบจึงมาจากพื้นที่ห่างไกลและบริเวณโดยรอบผสมผสานกัน

ศรีเทพ รากฐานบรรพชนไทย

รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าวในประเด็นคนไทยมาจากไหนว่า ถ้าเชื่อว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศ คนส่วนหนึ่งของสุโขทัยก็มาจากศรีเทพ เพราะบุคลิกทางวัฒนธรรมบางอย่างคล้ายกัน กำเนิดของกรุงศรีอยุธยาก็ต้องมองที่ศรีเทพเป็นสำคัญ ศรีเทพคือบรรพชนแขนงหนึ่งของอยุธยา

เพราะมีรากฐานของงานสถาปัตยกรรมและความเชื่อที่คล้ายกัน เห็นได้จากการสร้างตรีมุข ปราสาทศูนย์กลางเมือง การนับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เป็นใหญ่ การสถาปนามหาสถูปทั้งในและนอกเมือง การสร้างมหาธาตุใจกลางเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนพบทั้งในสุโขทัยและอยุธยา

“ครั้งหนึ่งศรีเทพเคยเจริญ แต่เมื่อเส้นทางการค้าเปลี่ยน ภูมิศาสตร์เปลี่ยน คนจากศรีเทพอาจย้ายหรือไปตั้งศูนย์กลางที่อื่น หลัง พ.ศ. 1700 ลงมา หลักฐานที่แสดงให้เห็นคือ ขึ้นไปทางเหนือเป็นบรรพชนส่วนหนึ่งของผู้ที่ตั้งรัฐสุโขทัย อีกส่วนเป็นบรรพชนของผู้ตั้งรัฐอยุธยา ที่สืบมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน”

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

สมบัติล้ำค่าของศรีเทพในต่างแดน

ดร.ทนงศักดิ์เล่าถึงโบราณวัตถุและมรดกจากศรีเทพว่า มีมากมายหลายชิ้นที่ถูกนำไปในที่ต่าง ๆ ทั้งไทยและเป็นสมบัติที่ถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศรีเทพ เช่น ประติมากรรมพระนารายณ์สวมหมวกทรงแปดเหลี่ยม ที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย (The Honolulu Museum of Art),

พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน (Norton Simon Museum), พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (The Metropolitan Museum of Art) ในสหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) ในอังกฤษ เป็นต้น

กรมศิลปากรและภาครัฐมีความพยายามอย่างสูงที่จะนำสมบัติของชาติเหล่านั้นกลับคืนมา เพื่อประกอบการอธิบายตัวตนของศรีเทพให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ดร.ทนงศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ถ้าเราได้หลักฐานโบราณวัตถุกลับคืน เราจะสร้างเรื่องราวได้ชัดเจนกว่าในปัจจุบัน แม้ว่าเราจะไม่พบติดที่ก็ตาม ก็หวังว่าชาวบ้านหรือชุมชนจะให้ความร่วมมือ บอกเล่าถึงที่มาที่ชัดเจนของที่ครั้งหนึ่งเคยขุดขายไป จะทำให้วิเคราะห์ตัวเมืองศรีเทพได้ง่ายขึ้น”