BITE SIZE : เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความยินดี เมื่อ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45

การประกาศให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ในรอบกว่า 30 ปี กลายเป็นโอกาสใหม่ในเชิงการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ชุมชนรอบพื้นที่แห่งนี้ แต่กว่าจะได้รับการเลือกให้เป็นมรดกโลก ก็มีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น และมีสิ่งที่ควรรู้ต่อไปนับจากนี้อีก

Prachachat BITE SIZE สรุปเรื่องราวทั้งหมดให้ได้เรียนรู้อีกครั้ง

รู้จัก “เมืองโบราณศรีเทพ”

เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบแบบสมัยทวารวดี แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองในและเมืองนอก รวมพื้นที่กว่า 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่

ตามการคาดการณ์จากการขุดค้นทางโบราณคดี คาดว่า มีมนุษย์อาศัยอยู่และเกิดเป็นชุมชนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุของเมืองมากกว่า 1,500 ปี

พื้นที่โบราณสถานดังกล่าว ยังปรากฏร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18-ต้นพุทธศตวรรษที่ 19

ส่วนการสำรวจเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ เรื่มสำรวจมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2447 และเริ่มสำรวจอย่างจริงจังอีกคร้ัง หลังกรมศิลปากร ประกาศให้เป็น 1 ใน 10 อุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2527

อ่านเพิ่มเติม : เปิดประวัติ เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย อายุ 2,000 ปี

กว่า “ศรีเทพ” จะเป็นมรดกโลก

เมืองโบราณศรีเทพ เริ่มมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ปี 2562 ระหว่างนั้นมีการศึกษา รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และปรับในรายละเอียด ให้เป็นไปตามที่ ยูเนสโก กำหนด

แต่ระหว่างทางก็มีปัญหาขึ้น เมื่อบริเวณใกล้เคียงจะมีการก่อสร้างแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมใกล้กับพื้นที่กลุ่มโบราณสถาน เมื่อปี 2562 ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการเสนอชื่อ

สุดท้าย โครงการดังกล่าวก็ล้มเลิกไป ในเวลาไม่ถึงปี โดยเหตุผลสำคัญ คือ จะสร้างผลกระทบต่อโบราณสถาน และจะกระทบต่อการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกตามมาด้วย

จนกระทั่งได้ผ่านการเห็นชอบเป็นมรดกโลกจากที่ประชุมของ UNESCO เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิม ได้แก่

  1. เมืองโบราณศรีเทพ
  2. โบราณสถานเขาคลังนอก
  3. และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ตำบลโคกสะอาด

โดยเมืองโบราณศรีเทพ มีคุณค่าตามเกณฑ์ของยูเนสโก 2 ข้อ ประกอบด้วย

เกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์

เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

เป็นแหล่งมรดกโลก ต้องทำอะไรบ้าง ?

หลังจากที่มีการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อย ยังมีอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องจัดการต่อ ทั้งการกำหนดและจัดการพื้นที่โบราณสถานและโดยรอบ ทั้งพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น หรือ พื้นที่ Core Zone และพื้นที่กันชน หรือ Buffer Zone ซึ่งมีขนาดพื้นที่ดังนี้

เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานเขาคลังนอก

พื้นที่ Core Zone

  • เมืองโบราณศรีเทพ 474.011 เฮกตาร์ (4,740,110 ตร.ม.)
  • โบราณสถานเขาคลังนอก 10.144 เฮกตาร์ (101,440 ตร.ม.)

พื้นที่ Buffer Zone

  • รวมทั้ง 2 โบราณสถาน 2,939.354 เฮกตาร์ (29,393,540 ตร.ม.)

โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

  • พื้นที่ Core Zone 382.320 เฮกตาร์ (3,823,200 ตร.ม.)
  • พื้นที่ Buffer Zone 1,048.696 เฮกตาร์ (10,486,960 ตร.ม.)

สำหรับการคิดพื้นที่ จากหน่วยเฮกตาร์ เป็นตารางเมตร สูตรการแปลงค่าคือ 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร

โดยทั้ง 2 รูปแบบพื้นที่ จะมีข้อห้ามแตกต่างกัน บางข้ออนุโลมให้ได้ บางข้อก็ห้ามเด็ดขาด แต่กิจกรรมที่ได้รับอนุญาต ทำได้เหมือนกัน คือ พื้นที่เกษตรกรรม

นอกจากนี้ ยังต้องบริหารจัดการโบราณสถาน การดูแลโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ ไปจนถึงการศึกษาและการติดตามโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่หายไปด้วย เพื่อนำมาศึกษาต่อ และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนมากขึ้น

ถ้ามีโอกาสได้ไปเยือนหรือไปเที่ยวโบราณสถาน รวมถึงเมืองโบราณศรีเทพ อย่าลืมปฏิบัติตามกฎการเยี่ยมชมโบราณสถานอย่างเคร่งครัด เพื่ออนุรักษ์ให้โบราณสถานคงความสวยงาม และคงคุณค่าให้ศึกษาประวัติศาสตร์ต่อไป

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.21 ได้ที่ https://youtu.be/03bSUOaQSRo