เที่ยวมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ ด้วย Virtual Historical Park

ชวนรู้จักฟีเจอร์ Virtual Historical Park จากกรมศิลปากร ท่องแหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ พร้อมเสียงบรรยายจากที่บ้าน

หลังจากยูเนสโก ได้ประกาศให้ เมืองโบราณศรีเทพ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง (พื้นที่ภายในคูน้ำเมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์) เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ตามเกณฑ์สิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ผังเมือง และภูมิทัศน์ สะท้อนการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

จากหลักฐานทางโบราณคดี โบราณวัตถุ จารึก ที่ได้จากการขุดค้นและขุดแต่งยาวนานกว่า 10 ปี บ่งชี้ว่า พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของผู้คนที่มีวัฒนธรรม “ทวารวดี” หรือย้อนไปเกือบ 2,000 ปีก่อน และมีการใช้งานสืบเนื่องจนถึงวัฒนธรรมขอมโบราณตอนปลาย

และถูกปล่อยรกร้างในช่วงที่ศูนย์กลางชุมชนย้ายไปตามเมืองในหุบเขาสำคัญในเขตภาคเหนือของไทย และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ศิลปกรรม ที่ค้นพบภายในเมืองโบราณศรีเทพ ที่โดดเด่นอย่างมาก คือ งานปั้นหรือประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพ ที่แตกต่างจากลักษณะประติมากรรมรุ่นเดียวกันในภูมิภาค โดยเฉพาะประติมากรรมสุริยเทพและเทวรูปอื่น ที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะเป็นเมืองใหญ่ของวัฒนธรรมทวารวดีที่นับถือพุทธศาสนา (พื้นที่อื่นมักพบธรรมจักร หรือพระอวโลกิเตศวร) แต่พื้นที่นี้ครั้งหนึ่งชาวเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์และบูชาสุริยเทพเป็นเทพองค์สำคัญ แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชาวอินเดีย

งานปั้นสกุลช่างศรีเทพ หมายถึง เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง เนื่องจากงานปั้นลอยตัวในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ฝีมือช่างยังไม่สามารถทำให้ส่วนเว้าส่วนโค้งรับน้ำหนักส่วนหัว หรือแขนรูปเคารพได้ดี เนื่องจากวัสดุมักเป็นหินสลัก

แต่งานสกุลช่างศรีเทพไม่มีการค้ำยันบริเวณศีรษะกับแขนไว้ด้วยกันเพื่อป้องกันการหัก ทั้งมีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืน 3 ส่วน (อาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย) แสดงอาการเคลื่อนไหวของรูปปั้น

ประติมากรรม พระสุริยะ จากเมืองศรีเทพ แสดงการยืนแบบ “ตริภังค์” ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (ที่มา : เพ็ญสุภา สุขคตะ, มติชนสุดสัปดาห์)

ทั้งนี้ ยังมีโบราณสถานจำนวนกว่า 200 แห่งกระจายตัวทั้งในเขตคูน้ำคันดินรอบเมืองโบราณศรีเทพ ถูกจัดวางผังด้วยคติจักรวาลแบบอินเดีย (มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง) และพื้นที่ใกล้เคียงนอกเมืองอย่างเขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์ ที่ต้องเดินเท้าขึ้นเขาเพื่อชมศิลปกรรมภายในถ้ำ นับว่าเป็นอีกกิจกรรมแอดเวนเจอร์หนึ่งในการชมอุทยานประวัติศาสตร์ ทำให้หลายคนสนใจที่จะออกเดินทางไปสำรวจพื้นที่จริง

การเดินทางไปยังเมืองศรีเทพ ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 21 (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

ปฏิมากรรมนูนต่ำ พระพุทธเจ้าประทับยืน ภายในถ้ำเขาถมอรัตน์ (ที่มา : กรมศิลปากร)

โดยปกติแล้ว การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะอาจจะลำบากเล็กน้อย สามารถเดินทางด้วยรถประจำทางสายลพบุรี-หล่มสัก หรือกรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์-ด่านซ้าย-ภูเรือ ก็จะผ่านถนนสาย 21 ตรงทางแยกเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ได้เช่นเดียวกัน

เขาคลังนอก สมญามหาสถูปแห่งลุ่มน้ำป่าสัก

เมืองโบราณศรีเทพ ผ่านอุทยานเสมือนจริง

หากการเดินทางยังไม่สะดวก แต่ต้องการชื่นชมความงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ของเมืองศรีเทพ ล่วงหน้า ทางกรมศิลปากร ได้พัฒนาฟีเจอร์ Virtual Historical Park ไว้รองรับตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา

ฟีเจอร์นี้ นับว่าใช้งานได้ตอบโจทย์สำหรับการรับชมทิวทัศน์ และรายละเอียดของโบราณสถานสำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีแค่เมืองโบราณศรีเทพ แต่สามารถชมได้แทบทุกอุทยาน ทั้งอุทยานปราสาทเมืองสิงห์ ปราสาทเมืองต่ำ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ภูพระบาท พนมรุ้ง สด๊กก๊จธม พิมาย และพระนครคีรี

นอกจากจะเลือกมุมสำรวจได้ทั้งมุมสูง และมุมระดับสายตา ยังมีการบรรยายความรู้เสริมโดยละเอียด ในแต่ละจุดที่เลือกเข้าไปสำรวจ หรือเข้าชมวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้อง บนหน้าต่างอุทยานเสมือนจริงอีกด้วย

โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้ผ่าน เว็บไซต์กรมศิลปากร ก่อนที่จะเข้าไปชื่นชมและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนพื้นที่จริงได้ ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมฟรี เพื่อฉลองการได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก 20-24 ก.ย.นี้

นักท่องเที่ยวเพิ่ม 10 เท่า

นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนเกิดกระแสเมืองศรีเทพขึ้นเป็นมรดกโลก มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยือนเพียงหลัก 100 คน/วัน แต่หลังจากได้รับการโปรโมตจากหน่วยงานต่าง ๆ จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 1,000 คน/วัน เฉลี่ยในวันปกติจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์เสาร์-อาทิตย์เพิ่มขึ้นสูงถึง 10 เท่า

คาดว่าหลังจากประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นทะลุ 2,000-3,000 คน/วัน โดยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 20-24 กันยายน 2566 นี้ ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี เนื่องในโอกาสฉลองการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

โบราณสถานสำคัญ

สถานที่สำคัญ ภายในอุทยานนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการ สำรวจ ขุดค้น ศึกษา และพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2521ได้ทำการบูรณะและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงถาวร และแบ่งพื้นที่สำคัญออกเป็นสองส่วน ได้แก่ เมืองใน และเมืองนอก

เมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ผังเมืองค่อนข้างกลม ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ พบโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โบราณสถานที่สำคัญ เช่น เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่ และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง

เมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589 ไร่) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน พบโบราณสถาน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก
นอกจาก เมืองใน และ เมืองนอก ยังพบโบราณสถานอีกกว่า 50 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว และเขาถมอรัตน์ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการฝังศพมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 – 17) และลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16 – 17) อีกด้วย

ตัวอย่างสถานที่สำคัญ

ปรางค์ศรีเทพ

เป็นสถาปัตยกรรมแบบขอมในยุคทวารวดี หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก[1] แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17[1] ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย

โบราณสถานเขาคลังใน

เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า “เขาคลัง” การก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดีมีลักษณะศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี จะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมือง ลักษณะทางผังเมืองจะคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัวที่ราชบุรี และจากรายละเอียดปูนปั้นบุคคลหรือลวดลาย แบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูคล้าย

ปรางค์สองพี่น้อง

ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียวและจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น

เขาคลังนอก

ซุ้มคล้ายอาคารจำลองหลายขนาดที่มีเสาประดับ เเป็นมหาสถูปในวัฒนธรรมทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขุดสำรวจเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2555 มีลักษณะหลงเหลือเป็นสิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร ใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลัก ๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร แต่ละทิศมีเจดีย์เล็ก ๆ รายรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลาง คล้ายบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย

ถ้ำเขาถมอรัตน์

อยู่ด้านทิศตะวันตกนอกของเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ เป็นที่ตั้งของถ้ำถมอรัตน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติ ถ้ำกว้าง 10 เมตร ลึกถึงก้นถ้ำ 23 เมตร เพดานถ้ำสูง 12 เมตรกลางถ้ำมีหินใหญ่เป็นแกนย้อนจากเพดานถ้ำลงมา โดยพบประติมากรรมสลักนูนต่ำทางด้านตะวันออกของแกนมีสภาพไม่สมบูรณ์จากการถูกสกัดพระพักตร์และพระหัตถ์