แรปเปอร์ผงาดครองโลก หลังกำเนิด “ฮิปฮอป” 4 ทศวรรษ

ท้องฟ้าสีเทา – เรื่อง


ดนตรีฮิปฮอป (hip hop) กำเนิดขึ้นมาครบ 44 ปีเมื่อปีที่แล้ว โดยเริ่มนับจุดเริ่มต้นเมื่อ ดีเจ.คูลเฮิร์ก (DJ. Kool Herc) จัดปาร์ตี้ฮิปฮอปครั้งแรกที่ เซดจ์วิค อเวนิว ในย่านบรองซ์ มหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1973 โดยมีผู้เข้าร่วมปาร์ตี้ประวัติศาสตร์นั้น ประมาณ 40-50 คน

ปี 2017 ถือว่าเป็นหลักไมล์สำคัญหลักหนึ่งของวงการและวัฒนธรรมฮิปฮอป เพราะมีหลายอย่างที่ยืนยันว่าดนตรีฮิปฮอปได้ผงาดขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมหลักที่ครองโลกอย่างไม่มีข้อกังขา และไม่น้อยหน้าวัฒนธรรมไหน ๆ ในโลกนี้ แม้ว่าก่อนหน้านั้นฮิปฮอปเป็นแนวดนตรีที่เป็นที่นิยมมานานไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาชัดเจนที่สุดในปีที่อายุครบ 44

ฮิปฮอป เป็นวัฒนธรรมคนผิวดำ เริ่มต้นขึ้นมาในสถานะวัฒนธรรมใต้ดินของพลเมืองชั้นสองชั้นสามในสังคมอเมริกัน แล้วก้าวขึ้นมาบนดิน แต่ยังคงเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อย หลังจากกำเนิด 10 ปี จึงมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงฮิปฮอปแผ่นแรกของโลก นับว่าฮิปฮอปก้าวเข้าสู่กระแสหลักในตอนนั้น

แต่ละทศวรรษที่ผ่านมา ดนตรีฮิปฮอปก้าวเดินอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ๆ และมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง ความนิยมดนตรีฮิปฮอปได้ขยายขอบเขตออกไปนอกกลุ่มคนผิวดำ มีแรปเปอร์ผิวขาวเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ถึงแม้แรปเปอร์ผิวขาวมีจำนวนน้อยถ้าเทียบกับภาพรวมทั้งหมด แต่ก็เป็นสิ่งที่บอกว่า วัฒนธรรมนี้ไม่มีข้อจำกัดว่าคุณเป็นใคร มีผิวสีอะไร

นับตั้งแต่หาที่ทางของตัวเองเจอ แรปเปอร์หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินทรงอิทธิพลของโลก ไม่น้อยไปกว่าบรรดาพ็อปสตาร์ หรือร็อกสตาร์

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นอิทธิพลของบรรดาแรปเปอร์ที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นยุค 1980s ที่ รัน-ดีเอ็มซี (Run-DMC) โด่งดัง ทำให้คนซื้อรองเท้าและเสื้อผ้าอาดิดาสตามที่พวกเขาสวมใส่ เมื่อเห็นว่าตัวเองมีอิทธิพลขนาดนั้น พวกเขาจึงคิดวิธีทำเงิน โดยการแต่งเพลง “My Adidas” ขึ้นมา แล้วเปิดแสดงที่ เมดิสัน สแควร์ การ์เดน และเชิญตัวแทนจากบริษัทอาดิดาสมาดูการแสดง อาดิดาสเห็นว่า รัน-ดีเอ็มซี ทำให้อาดิดาสขายสินค้าได้มากแค่ไหน จึงเซ็นสัญญากับศิลปินฮิปฮอปกลุ่มนี้ ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกของโลก ที่คนที่ไม่ใช่นักกีฬาได้เซ็นสัญญากับบริษัทขายสินค้ากีฬา

หรือถ้าในยุคปัจจุบันนี้ก็อย่างกรณีที่บรรดาสนีกเกอร์เฮดทั่วโลกต้องต่อคิวแย่งกันซื้อรองเท้า อาดิดาส ยีสซี (Adidas Yeezy) ที่แรปเปอร์ชื่อดัง คานเย เวสต์ (Kanye West) เป็นคนออกแบบ ไม่ว่าจะออกมากี่รุ่น กี่โมเดล ราคาสูงแค่ไหน ก็ไม่มีผลให้ดีมานด์ลดน้อยลง


ที่บอกว่าปี 2017 เป็นหลักไมล์สำคัญของวงการฮิปฮอปนั้น มีข้อมูลตัวเลขในเชิงธุรกิจ-อุตสาหกรรมดนตรียืนยัน โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด นีลเส็น กรุ๊ป (Nielsen Group) เปิดเผยว่า ปี 2017 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่แนวเพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีก้าวขึ้นมาเป็นแนวดนตรีที่มีผู้บริโภคสูงสุดในสหรัฐอเมริกา แซงหน้าเพลงร็อกที่เคยเป็นแชมป์ตลอดกาล

ข้อมูลการบริโภคดนตรีเชิงลึกในตลาดสหรัฐอเมริกาบอกว่า ศิลปินที่มีผู้บริโภคสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2017 เป็นศิลปินแนวเพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีมากถึง 8 อันดับ โดยหนุ่ม เดรก (Drake) นำมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ในอันดับ 2 ส่วนอีก 2 อันดับที่เหลือคือศิลปินเพลงพ็อป เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) และ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)

นอกจากนั้น เพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีมีส่วนทำให้การสตรีมมิ่งเพลงในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 59% ด้วย โดยมีศิลปินจากสองแนวเพลงนี้คิดเป็น 9 ใน 10 อันดับศิลปินที่มียอดการสตรีมมิ่งสูงสุดในปี 2017

สตาติสตา (Statista) เปิดเผยตัวเลขส่วนแบ่งตลาดอุตสาหกรรมดนตรีในสหรัฐอเมริกา ปี 2017 แยกตามประเภทแนวเพลง ปรากฏว่า ดนตรีฮิปฮอปอยู่ในอันดับ 2 ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 17.5% มากกว่าดนตรีพ็อปที่อยู่อันดับ 3 ครองส่วนแบ่งอยู่ 17.2% แต่ยังเป็นรองเพลงร็อกที่ครองส่วนแบ่ง 22.2% แต่ถ้าเอาฮิปฮอปบวกกับอาร์แอนด์บี ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่มักจะมีการร้องแรปผสม ทั้งสองแนวนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดรวมเป็น 26.2% เป็นอันดับ 1 ตามรายงานของนีลเส็น

มาถึงปี 2018 ซึ่งฮิปฮอปก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ก็มีสิ่งที่ตอกย้ำยืนยันอีกว่า ฮิปฮอปไม่เพียงแต่จะไม่ใช่วัฒนธรรมกลุ่มย่อยอีกต่อไป แต่ยังเป็นวัฒนธรรมที่โลกต้องยอมรับ ไม่สามารถแบ่งแยกกีดกันได้อีกแล้ว เห็นได้จากเมื่อเร็ว ๆ นี้ เคนดริก ลามาร์ แรปเปอร์วัย 30 ปี คว้ารางวัลพูลิตเซอร์ ปี 2018 ในสาขาดนตรี ความสำคัญของการที่เคนดริก ลามาร์ ได้รับรางวัลครั้งนี้คือ เขาสร้างประวัติศาสตร์ เป็นศิลปินที่ไม่ใช่ศิลปินในสาขาเพลงคลาสสิกและเพลงแจ๊ซรายแรกที่ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลมาเป็นเวลา 75 ปี

ชัยชนะของเคนดริก ลามาร์ ในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่รางวัลของเขาและทีมงาน แต่ยังเป็นชัยชนะของดนตรีฮิปฮอปที่สามารถชนะรางวัลนี้ ในขณะที่เพลงแนวอื่นยังไม่สามารถทำได้ หรือถ้ามองกว้างกว่านั้นก็คือฮิปฮอปเป็นตัวแทนของดนตรีสมัยใหม่ เป็นตัวแทนของคนธรรมดาสามัญที่สามารถเทียบชั้นดนตรีคลาสสิกและแจ๊ซอันเคร่งขรึม ซึ่งถูกมองว่าเป็นดนตรีของชนชั้นบน ๆ ในสังคม แม้จะเพียงแค่รางวัลเดียว แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อว่าจะได้เห็นก้าวต่อ ๆ ไป

ย้อนไปช่วงปลายปีที่แล้ว คาร์ดี้ บี (Cardi B) แรปเปอร์สาวชาวนิวยอร์ก แจ้งเกิดสุดเปรี้ยงด้วยการส่งเพลง “Bodak Yellow (Money Moves)” ขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ด เขี่ยซูเปอร์สตาร์สาว เทย์เลอร์ สวิฟต์ ตกจากบัลลังก์ หลังจากครองอันดับ 1 มาหลายสัปดาห์ เดอะ การ์เดียน พูดถึงความสำเร็จของคาร์ดี้ บี ว่า “ความโด่งดังของบีถือเป็นเรื่องราวเทพนิยายยุคใหม่ และเป็นความฝันของชาวอเมริกัน” และล่าสุด “Invasion Of Privacy” อัลบั้มเต็มชุดแรกของสาวบี ก็ขึ้นถึงอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ดได้ด้วย

ขณะที่ตอนนี้เพลงที่ครองอันดับ 1 และ 2 ของบิลบอร์ดชาร์ตอยู่คือ เพลงของเดรก แรปเปอร์วัย 31 ปี ชาวแคนาดา ที่ทำลายสถิติต่าง ๆ จนนับไม่หวาดไม่ไหว

ในบรรดาศิลปินดังระดับท็อป ๆ ที่ได้ยินชื่อบ่อย ๆ ในข่าวยุคนี้ เป็นแรปเปอร์มากพอ ๆ กับนักร้องพ็อปสตาร์ ไม่ว่าจะเป็น คานเย เวสต์, เดรก, เจย์-ซี, อีมิเนม, เคนดริก ลามาร์, นิคกี้ มินาจ ฯลฯ

ขณะเดียวกันในบ้านเราซึ่งรับอิทธิพลทางดนตรีจากฝั่งตะวันตกมาตลอด ปีหลัง ๆ มานี้แรปเปอร์เข้ามาแชร์พื้นที่สื่อไปมากเช่นกัน มีเพลงดังและแรปเปอร์หลายคนแจ้งเกิดขึ้นมา และหลายคนได้รับความนิยมระดับสูงพอ ๆ กับศิลปินในกระแสหลัก อย่างเช่น Illslick, ปู่จ๋านลองไมค์, UR-BOY TJ, TWOPEE Southside, YOUNGOHM

กระแสเพลงฮิปฮอปและศิลปินแรปเปอร์ที่บูมขึ้นในประเทศไทยช่วง 3-4 ปีมานี้ คงต้องยกความดีความชอบให้กลุ่ม Rap is Now ที่มีการแข่งขันแรปและทำรายการทีวีจนเกิดกระแสขึ้นมา ความนิยมจาก Rap is Now ถูกเลี้ยงกระแสต่อเนื่องด้วยการที่วงการเพลงไทยมีเพลงแรปออกมา และหลายเพลงเป็นเพลงดัง จนมาถึงปีนี้มีรายการแข่งขัน แรปแบตเทิลอีก 2 รายการ เปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ รายการ The Rapper ของเวิร์คพอยท์ และ Show Me The Money Thailand ของทรูฟอร์ยู

ณ ทศวรรษที่ 4 หลังจากการกำเนิดแนวเพลงและวัฒนธรรมฮิปฮอป ไม่ว่าจะมองที่รางวัล, ชาร์ต, ยอดขาย, อิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือด้านไหน ๆ ก็สามารถพูดได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ฮิปฮอปครองโลก

…และแม้ไม่อยากแบ่งแยกเรื่องสีผิว ไม่อยากแบ่งแยกว่าใครเป็นใคร แต่เราก็ไม่สามารถพูดเรื่องการผงาดของเพลงฮิปฮอปและแรปเปอร์ โดยตัดขาดจากประเด็นที่ว่า นี่คือชัยชนะอย่างหนึ่งของคนผิวสีที่โดนสังคมกดทับ และรอเวลานี้มานานแสนนาน