วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ เจ้าพ่อเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียน เพราะความหลงใหลทำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

อ๋อง-วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ เป็นชื่อที่คนติดตามข่าวคราวแวดวงสังคมคุ้นชื่อคุ้นหูกันประมาณหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือพาร์ตความเป็นนักธุรกิจของเขาที่เขาเริ่มต้นจากความหลงใหลส่วนตัว เรียกว่าคิดหมกมุ่นกับสิ่งที่ตัวเองหลงใหลจนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แล้วลงมือสร้างธุรกิจนั้นขึ้นมา เกิดเป็นธุรกิจที่เติบโตดีขึ้นทุกปี

ธุรกิจที่ว่าคือ ธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียน

วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ส รีพับลิค จำกัด (Norse Republic) มีสินค้าเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียนแบรนด์ดังอยู่ในมือ 5 แบรนด์ เรียกว่าเป็นเจ้าตลาดไปแล้วเรียบร้อย

ความสำเร็จของ Norse Republics ทำให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียนหลายแบรนด์วิ่งเข้าหา อยากให้บริษัทนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทย แต่หลายแบรนด์ก็โดนปฏิเสธกลับไป…อื้อหือ อะไรจะหล่อเลือกได้ขนาดนั้น

ก่อนจะมาถึงจุดที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ วีกฤษฏิ์บอกว่า การทำธุรกิจนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความชอบส่วนตัวของเขาเท่านั้น

อ๋อง วีกฤษฏิ์ เล่าว่า คิดว่าตัวเองชอบเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์มาตั้งแต่เด็ก เพราะเท่าที่จำได้รูป object รูปแรก ๆ ที่วาดคือรูปโต๊ะ เก้าอี้ เมื่อโตถึงวัยเรียนระดับอุดมศึกษา เขาเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะคิดว่าจะต้องช่วยธุรกิจที่บ้านซึ่งทำโรงงานอุตสาหกรรม พอเรียนจบ เขาไปช่วยงานที่บ้านอยู่สักพักก็เริ่มรู้สึกว่า “ไม่ใช่” จึงออกไปทำงานด้านการออกแบบเว็บไซต์ ออกแบบโบรชัวร์ กราฟิกต่าง ๆ ถึงได้ค้นพบว่าจริง ๆ แล้วตัวเองชอบสายดีไซน์

หลังจากรู้ตัวว่าชอบงานสายดีไซน์เขาก็กลับมาคิดว่า “อะไรที่เราชอบ ที่เรารู้สึกอินกับมัน เราเก็ตกับมัน” คำตอบที่ได้คือ “เฟอร์นิเจอร์” เขาก็เลยเลือกไปเรียนปริญญาตรีอีกใบด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ Istituto Europeo di Design ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่ซึ่งรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ

ความชอบและความเอาจริงเอาจังของเขาเห็นได้จากการเลือกเรียนปริญญาตรีอีกใบ ทั้งที่จะเรียนโทเลยก็ได้ แต่เจ้าตัวคิดว่าเรียนโท 1 ปี เวลามันน้อยไป อยากเรียนให้ลึก อยากซึมซับกับมันนาน ๆ จึงเลือกเรียนปริญญาตรี

วีกฤษฏิ์เล่าประสบการณ์การเรียนในเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการออกแบบว่า ที่มิลานก็เป็นเมืองที่มีงานดีไซน์ตลอดเวลา เขาจึงได้หาอินสไปเรชั่นต่าง ๆ ตลอด

“ผมพยายามเลือกโรงเรียนที่ไม่ค่อยฮิต ไม่มีคนไทย และบังเอิญโรงเรียนที่เราชอบดันไม่มีคนไทยเลย ในห้องมี 30 คน มาจากชาติต่าง ๆ 25 ชาติ มาจากคัลเจอร์ต่างกัน

เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากคนเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องการเรียน แต่เป็นคัลเจอร์ การใช้ชีวิตของเขา เขามีความคิดยังไง มันเป็นความสนุกอีกแบบหนึ่ง แล้วงานดีไซน์ที่ออกมาก็น่าสนใจ เพราะมันมีหลายไอเดียมารวมกัน”

ด้วยความที่การเรียนการสอนที่นั่นเน้นให้ศึกษาหาข้อมูลแล้วพรีเซนต์ไอเดียและแรงบันดาลใจ จนกว่าจะได้ไอเดียที่ดี จึงให้ลงมือทำชิ้นงาน เขาจึงได้ศึกษาลงลึกและอินกับเรื่องเฟอร์นิเจอร์มากขึ้นไปอีก และด้วยความที่ได้เรียนรู้หลายคัลเจอร์นั่นเอง ทำให้ค้นพบว่าตัวเองอินกับงานดีไซน์ทางยุโรปเหนือมากที่สุด

“ประมาณ 2 ปีหลัง เราดูงานแถบสแกนดิเนเวียนมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นในบ้านเราไม่มีใครทำตลาด เราก็เห็นช่องทางว่าจริง ๆ แล้วแบรนด์สแกนฯในต่างประเทศได้รับความนิยมมาก มันมีเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นคลาสสิกไอเท็มเยอะมากที่เราเห็นทุกวัน แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ทำไมไม่มีใครทำตลาดตรงนี้ อาจจะเพราะว่าคนทำตลาดในไทยยังไม่กล้าเปลี่ยนเป็นแนวสแกนฯ เพราะคิดว่าคนอาจจะไม่ชอบหรืออาจจะไม่เก็ต แต่ในมุมมองคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่ามันเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ชอบ มันอาจไม่ใช่สินค้าที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเข้าใจ แต่มันเป็นสินค้าที่คนยุคเราเข้าใจ ยุคที่มีความโมเดิร์นขึ้น เรียบง่ายขึ้น ใช้ชีวิตซิมเพิลขึ้น ชอบอะไรที่ดีเทลน้อยแต่เป็นงานดี ๆ” เขาเล่าพร้อมกับส่งอารมณ์ความอินออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านการออกแบบที่ตั้งใจไปเรียนเขาก็ทำได้อย่างโดดเด่น ผลงานดีไซน์โคมไฟที่เป็นโปรเจ็กต์จบของเขาคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ได้เข้าร่วมจัดแสดงในงาน Salon del Mobile 2014-15 ที่เมืองมิลาน และมีบริษัทซื้อแบบไปผลิตเป็นสินค้าออกวางขายจริงด้วย

หลังเรียนจบกลับมาเมืองไทย เขาตั้งบริษัทในวัย 31 ปี ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทำแบรนด์ของตัวเอง แต่ด้วยความที่มองเห็นช่องทางตลาดอย่างที่ว่า เขาจึงพับโครงการทำเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง เปลี่ยนเป็นนำเข้าเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียนมาขาย

“สิ่งที่ชอบคือ รูปลักษณ์ง่าย ๆ นิ่ง ๆ แต่ทำไมมันอยู่ได้นานขนาดนี้ ซึ่งแบรนด์ส่วนใหญ่มีคอนเซ็ปต์ว่า บ้านหลังนึงไม่ต้องตกแต่งพื้น ตกแต่งผนังให้เว่อร์มาก บางทีผนังเปล่า ๆ กับเฟอร์นิเจอร์สวย ๆ ก็ทำให้บ้านสวยขึ้นมา และดีเทลของงานเดนมาร์กเป็นดีเทลที่เหลือเชื่อมาก คนที่เป็นช่างจะรู้เลยว่าทำยากจริง ๆ อย่างตู้แซมเพิลของผม เคยมีช่างไม้ที่ผมสนิทมาเห็นแล้วบอกว่า โอ้โห ยากมาก ในความซิมเพิล ดีเทลมันละเอียดอ่อนมาก อย่างเก้าอี้ตัวนี้ ประกอบกันโดยไม่มีสกรูสักชิ้นเดียว ใช้เทคนิคการอัดไม้ให้รองรับน้ำหนักได้เป็นร้อยกิโล” เขาบอกเหตุผลที่หลงใหลเสน่ห์เฟอร์นิเจอร์สแกนฯ แล้วชวนให้ก้มลงมองที่เก้าอี้ที่เรานั่งกันอยู่

พอตั้งใจจะทำธุรกิจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์สแกนฯ เขาก็ไปคุยกับแบรนด์ที่ตัวเองชอบและคิดว่าน่าจะทำตลาดในเมืองไทยได้ ซึ่งแบรนด์แรกที่เลือกคือ HAY (เฮย์)

“ไม่ได้เรียงลำดับตามที่ชอบ แต่เราดูว่าตลาดเหมาะกับอะไร ตอนนั้นคิดว่าแบรนด์สแกนฯยังไม่ค่อยดังในเมืองไทย ก็เลยเลือก HAY แบรนด์เดนมาร์กที่ราคาเข้าถึงได้ เด็กวัยรุ่นก็เข้าถึงได้ และมีสินค้าหลากหลาย พอเข้ามาจริง ๆ ก็เกินคาดนะครับ เพราะว่าคนยุคใหม่รู้จัก หลายคนบอกว่า ชอบมานานแล้ว แต่ไม่มีใครเอาเข้ามา ก็ทำให้เรามีความมั่นใจ เราก็เลยดูแบรนด์อื่น ๆ ที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมในคนละตลาด ในคนละแคแร็กเตอร์”

ความสำเร็จของการนำเข้า HAY เป็นการเปิดประตูโอกาสให้บริษัทของเขา หลังจากนั้นเขาก็คว้าแบรนด์ใหญ่อย่าง Fritz Hansen (ฟริตซ์ ฮานเซ่น) เข้ามา แล้วก็ตามมาด้วย Vitra (วิทรา) Artek (อาร์เท็ก) และ GUBI (กูบี้) ซึ่งแต่ละแบรนด์มีแคแร็กเตอร์ต่างกัน จากประสบการณ์ที่ทำมา วีกฤษฏิ์รู้จักลูกค้าพอที่จะบอกได้เลยว่า ถ้าใครชอบแบรนด์ไหนก็จะชอบแบรนด์นั้น จะไม่ชอบอีกแบรนด์ เพราะแคแร็กเตอร์ใครแคแร็กเตอร์มัน

“การดีลไม่ยากสักแบรนด์ ตอนดีล HAY เป็นความโชคดีที่เราส่งอีเมล์ไปหาเขา แล้วเขาอยู่กรุงเทพฯพอดี เขาก็ชวนไปคุย ไปกินกาแฟ 2-3 ชั่วโมง การคุยครั้งนั้นทำให้เขามั่นใจในตัวเรา ทั้งที่เราก็ยังเป็นศูนย์ เราขายฝันหมดเลย (หัวเราะ) แต่เขามั่นใจให้เราทำ เราก็ทำจริงจังทุ่มเทเต็มที่ มันก็ทำให้แบรนด์อื่นเห็นว่ามีบริษัทที่โฟกัสแบรนด์สแกนดิเนเวียน อย่าง Fritz Hansen ก็เข้ามาหาเราเอง เขามาทิ้งนามบัตรไว้บอกว่าอยากทำกับเรา เห็นนามบัตรผมก็แอบช็อก เพราะว่าชอบอยู่แล้ว แต่เราไม่กล้า (หัวเราะ หึ หึ หึ) พอทำให้ Fritz Hansen ปุ๊บ ก็ทำให้แบรนด์อื่น ๆ หลั่งไหลติดต่อเราเข้ามา แต่เราก็เลือกว่าเราจะทำแบรนด์ไหน เพราะเราไม่ต้องการให้แคแร็กเตอร์มันซ้ำ เราอยากออฟเฟอร์ลูกค้าได้หลากหลายแบบ”

วีกฤษฏิ์บอกว่า ผลตอบรับดีขึ้นทุกปี และเขายังเปิดเผยตัวเลขที่แสดงให้เห็นการเติบโตว่า ปี 2559 มี HAY แบรนด์เดียวยอดขาย 12 ล้านบาท ปี 2560 มี Fritz Hansen เข้ามา ยอดขาย 40 ล้าน ปี 2561 ยอดขายเกือบ 70 ล้านบาท เพราะได้โปรเจ็กต์ใหญ่ ส่วนปีนี้แม้จะมีแบรนด์เข้ามาเพิ่มแต่ยังตั้งเป้า 70 ล้านเท่าปีที่แล้ว

“ตั้งเป้าแบบเรียลลิสติก เราไม่ได้มองว่าโปรเจ็กต์ใหญ่จะมาตลอด เราเห็นมันเติบโตขึ้น แต่ตั้งเป้าแบบค่อย ๆ โต”

ผลประกอบการดี บวกกับได้ทำงานกับแบรนด์ที่ตัวเองชอบซึ่งมีวิธีคิดและการดำเนินธุรกิจที่น่าเรียนรู้ ทำให้วีกฤษฏิ์แฮปปี้กับธุรกิจของตัวเองสุด ๆ

“การทำงานกับ Fritz Hansen เขาง่ายกับเรา มันก็ทำให้เราง่ายกับอะไรหลาย ๆ อย่าง เราสื่อสารกับลูกค้าง่ายขึ้น ทุกอย่างสมูทขึ้น ก่อนเข้ามาในธุรกิจนี้ก็ค่อนข้างกังวล เพราะเราเห็นบริษัทอื่นเขาเปลี่ยนแบรนด์กันบ่อย แบรนด์นี้อยู่กับบริษัทนี้ แต่อีกปีไปอยู่กับอีกบริษัทนึง เราก็กลัวเรื่องนั้นเหมือนกัน ก็มีคนเตือนมาเยอะว่า อย่าไปพรีเซนต์แบรนด์เขา ให้พรีเซนต์บริษัทเรา แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ซื่อสัตย์ เพราะเราเป็นคนที่ represent เขา เราก็ควรพูดถึงเขา เราควรทำให้แบรนด์เขาเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ไม่ใช่ทำให้เราเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็มาจากเขา เพราะแบรนด์ที่เราดีลอยู่เขาซื่อสัตย์มาก ๆ เขาพูดคำไหนคำนั้น และต่างจากที่เคยรับรู้มาแต่ก่อนว่าเขาจะมากดดันเราเรื่องยอดขาย ถ้าเราขายได้ไม่ถึงเป้า เขาก็จะเปลี่ยนไปให้บริษัทอื่น พอตอนที่ Fritz Hansen ส่งคอนแทร็กต์มาให้ผมดู ปีแรกผมยังงง ผมซื้อแค่ของในโชว์รูมก็ถึงเป้าเขาแล้ว เขาบอกว่า มันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นมาเฉย ๆ แต่เขาทำงานกับใครเขาก็ไว้ใจ ถ้าเลือกแล้วก็ไว้ใจและจะโตไปด้วยกัน อย่าง HAY ก็ไม่มีคอนแทร็กต์กับเรา มันทำให้ไม่มีความกดดัน และผมก็พร้อมที่จะพรีเซนต์มันออกไปได้เต็มปาก โดยที่เราไม่ต้องกลัวว่าปีหน้ามันจะไม่ใช่ของเราแล้วนะ เขาเคยบอกว่า คนเดนมาร์กแต่งงานทีเดียว ถ้าจะหย่ากับใครคือต้องมีเรื่องสำคัญจริง ๆ”

ตลอดการสนทนา วีกฤษฏิ์เล่าให้เราฟังอย่างผ่อนคลายและมีความสุข พร้อมกับเผยให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจและความหลงใหลในโปรดักต์ของตัวเองทุกช่วงทุกตอน แต่ด้วยความถ่อมตัวและเขิน เจ้าตัวไม่กล้าอวดว่า โชว์รูม Fritz Hansen ในซอยสมคิดซึ่งทำเป็นบ้านในชื่อ House of Fritz Hansen นั้นได้รับรางวัล Best Concept Store จากบริษัท Fritz Hansen มาด้วย และรางวัลนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความตั้งใจของเขา ที่ผสานความชอบส่วนตัวกับธุรกิจให้เข้ากันอย่างลงตัว