โฉมหน้าและอิทธิพลของศิลปะเชิงการเมืองในแต่ละยุคสมัย

Photo by Zakaria ABDELKAFI / AFP
 ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

ปี 2020 ไม่ได้เป็นเพียงปีที่โลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแสนสาหัส ความเคลื่อนไหวว่าด้วยเรื่องทาง “การเมือง” ก็เข้มข้นทั้งในไทยและต่างประเทศ หลายเรื่องถูกมองและเชื่อมโยงไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเชิง “ศิลปะ”

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายล้วนมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และสื่อกลางที่ถูกนำมาใช้สื่อสารเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม สิ่งที่มนุษย์เรียกว่า “ศิลปะ” ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกรวมเป็นหนึ่งในนั้นด้วย การใช้ชิ้นงานและกิจกรรมเชิงศิลป์นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เฉพาะในไทย แต่ปรากฏขึ้นในหลายประเทศรอบโลกมานานแล้ว

หากพูดถึง “ศิลปะ” องค์ความรู้เรื่องนี้ปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวางมาทุกยุคทุกสมัย และยังมีข้อถกเถียงในคำนิยามว่า สิ่งใดควรถูกนิยามว่าเป็น “ศิลปะ” ได้บ้าง คำถามนี้ก็ยังปรากฏเรื่อยมาจนถึงวันนี้ด้วย

ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักมองความหมายแบบกว้าง ๆ ว่าหมายถึง ชิ้นงาน/กิจกรรมใดก็ตามที่เป็นการสื่อสารถึงความสวยงาม จินตนาการ อารมณ์ และความนึกคิดของเจ้าของงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์มีกิจกรรมและผลงานสร้างสรรค์ที่มากขึ้น แถมเปลี่ยนรูปแบบไปตามเทคโนโลยี นิยามเหล่านี้จึงมักลื่นไหลและอาจถูกปรับเปลี่ยนได้

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจเส้นทางของ “ศิลปะ” ในฐานะสื่อกลางที่ถูกใช้เป็น “อุปกรณ์” เชิงการสื่อสารทางการเมือง ดูว่าสิ่งเหล่านี้มีโฉมหน้าอย่างไรกันบ้างในแต่ละยุคสมัย และส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์บ้าง

นิยาม “ศิลปะ” ในเส้นทางสู่ปัจจุบัน

นี่คือข้อถกเถียงคลาสสิกที่สุดประการหนึ่ง สายวิชาการ นักวิจารณ์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเชิงศิลป์ล้วนถกเถียงโต้ตอบกันมายาวนาน ความแตกต่างระหว่างนิยามของ “ศิลปะ” ไม่เพียงเป็นพลวัตในเชิงกรอบเวลาตามยุคสมัย ในเชิงพื้นที่ ฝั่งตะวันออกกับตะวันตกในแต่ละยุคยังนิยามศิลปะแตกต่างกัน ยุคสมัยของราชวงศ์โจวในจีนโบราณ มี “ศิลปะ 6 ชนิด” ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของ “สุภาพบุรุษอันสมบูรณ์แบบ” ได้แก่ พิธีการหรือธรรมเนียม, ดนตรี, ยิงธนู, บังคับม้า/รถม้า, คัดลายมือ และการคำนวณ

ขณะที่ฝั่งตะวันตก ในยุคกรีกโบราณก็ปรากฏการจัดกลุ่มทักษะที่จัดอยู่ในจำพวก “ศิลปะ” (art) เช่นกัน หากพิจารณาในแง่มุมที่กว้างที่สุด ในโลกตะวันตก คำว่า “art” ตามศัพท์ภาษาอังกฤษมีรากมาจากศัพท์ละตินคือคำว่า “ars” ซึ่งหมายถึง “ทักษะ” ในความหมายแบบกว้างในแง่ทักษะเชิงปัญญา คล้ายกับความหมายในเชิง “ศิลปศาสตร์” (liberal arts) ซึ่งการเรียนรู้เชิงศิลปศาสตร์ครอบคลุมความรู้ 3 ด้าน คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ระบบการศึกษาแบบนี้มีรายละเอียดต้องอธิบายกันยืดยาว แต่หากอธิบายแบบย่อคือเป็นระบบการเรียนที่ทำให้รับรู้ทั้งมุมกว้างและลึก ตามลำดับขั้นตอนและสาขาต่าง ๆ

ในอีกแง่มุมหนึ่งคำว่า “ศิลปะ” ในยุคใหม่ คนทั่วไปเข้าใจคำนี้กลืนไปกับกลุ่มความหมายที่เกี่ยวกับกิจกรรม/ทักษะสำหรับสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สื่อสารความหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสาร หรืออารมณ์ชนิดต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ออกมาให้มี “ความสวยงาม” เป็นหลัก

แค่เรื่องนิยามต่าง ๆ ก็มีความหลากหลาย และปรากฏข้อถกเถียงกันขึ้นมาแล้ว อันที่จริงแล้ว “การถกเถียง” ย่อมมีเป้าหมายหนึ่งคือเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป และการช่วงชิงความหมายหรือข้อสรุปก็เป็นการช่วงชิงตำแหน่งแห่งหนและตัวตนของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในสังคมอันเกี่ยวข้องกับการรับรู้ การใช้งาน และการวางตัวของสิ่งนั้นในสังคม ดังนั้นจึงพอจะกล่าวได้ว่า การช่วงชิงตำแหน่งนิยามและความหมายนี้ ถ้ามองในแง่มุมเชิงอำนาจ การพยายามจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาตำแหน่งแห่งหนให้ตัวมันเอง หรือสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง ก็พอจะให้กลิ่นของ “การเมือง” ได้แล้ว

งานศิลปะเพื่อสื่อสารทาง “การเมือง”

ภายใต้มุมมองว่า ศิลปะคือการสื่อสารเชิงความคิดและอารมณ์ของผู้สร้างงาน การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาสื่อสารเชิงสังคมและการเมืองย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีงานศิลปะชนิดนี้ปรากฏขึ้นทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะเชิงวิพากษ์วิจารณ์ หรืองานศิลปะในเชิงการเชิดชูอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสังคมและประชาชน ล้วนปรากฏให้เห็นตั้งแต่ยุคโบราณ

Photo by THOMAS SAMSON / AFP

ตัวอย่างที่ชัดเจนชิ้นหนึ่งคือ ภาพวาด “Liberty Leading the People” หรือ “เสรีภาพนำประชาชน” โดย เดอลาครัวซ์ (Ferdinand-Victor-Eugene Delacroix) วาดภาพนี้ในปี 1830 ภาพวาดสตรีที่ถือธงชาติฝรั่งเศสในมือขวา มือซ้ายถือปืน ตามมาด้วยผู้คนชนชั้นต่าง ๆ กำลังจะวิ่งผ่านร่างของประชาชนที่นอนอยู่บนพื้น สื่อถึงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส (หมายถึง ปฏิวัติปี 1830 ในยุคสมัยพระเจ้าชาร์ลสที่ 10) หญิงสาวในภาพคือตัวแทนของเสรีภาพนั่นเอง

ภาพนี้วาดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติไม่นานนัก และเคยแขวนอยู่ในวังด้วย ! แต่ภายหลังภาพนี้ก็ไปอยู่ในการดูแลของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในปี 1874 แน่นอนว่าภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงและการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างแน่ชัด สำหรับผู้ที่ชื่นชอบดนตรีอาจคุ้นตากันว่า ภาพนี้ปรากฏในหน้าปกอัลบั้ม “Viva La Vida” ของวงโคลด์เพลย์ (Coldplay) จากแดนผู้ดีด้วย

ไม่ใช่แค่ในรูปแบบของ “ภาพวาด” ศิลปะในรูปแบบอื่น อาทิ วรรณกรรม หรือแม้แต่สถาปัตยกรรม ยังมีนัยทางการเมืองด้วยเช่นกัน สิ่งก่อสร้างที่มีรูปร่างหน้าตาแบบที่เราเห็นกันจนถึงวันนี้ บางชิ้นงานเป็นตะกอนจากยุคสมัยที่สะท้อนแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อการเมือง”

การศึกษาเรื่องศิลปะคณะราษฎร 2475-2490 ของ ชาตรี ประกิตนนทการ บ่งชี้ถึงแนวคิดศิลปะที่แฝงความหมาย สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์เอาไว้ และการช่วงชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองนั้นก็เกิดขึ้นท่ามกลางการ “ปะทะ” กับสัญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจอีกขั้วด้วย

สัญลักษณ์อย่าง “พานรัฐธรรมนูญ” หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอนุสาวรีย์ อาคารสถานที่ ซึ่งมีลักษณะลดทอน “ฐานานุศักดิ์” ในงานสถาปัตยกรรม กล่าวคือ กลายเป็นลักษณะเรียบง่าย เกลี้ยง รูปทรงเส้นสายแข็ง ลวดลายประดับตกแต่งลดลง ถ้ามีลวดลายก็ปั้นแบบเรียบง่าย ตัดทอนรายละเอียดลง ไม่ได้เป็นลวดลายที่บ่งชี้ความหมายถึงฐานานุศักดิ์ แต่เป็นลวดลายเพื่อความสวยงามโดยตรงมากกว่า

ตลอดเส้นทางของมนุษยชาติในแต่ละยุคสมัย พัฒนาการของศิลปะยุคต่าง ๆ มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ระหว่างช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 19 การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงยุคศตวรรษที่ 20 ผลงานศิลปะที่สื่อสารในเชิงการเมืองก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัยเช่นกัน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ชิ้นงานในเชิงศิลปะ ในรายละเอียดแล้ว รูปแบบของศิลปะที่สื่อสารในเชิงการเมืองขยายวงไปสู่รูปแบบอื่น ไม่ได้มีเพียงชิ้นงานแบบจับต้องได้เท่านั้น ยังมีชิ้นงานอย่างบทเพลง ภาพยนตร์ และการแสดงอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยต้องอธิบายกันยืดยาว หากแต่มองในแง่มุมที่ใกล้ตัวในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยี สังคม และการเมือง ผ่านพลวัตมาอย่างเข้มข้น โฉมหน้าของมันกลายมาเป็นรูปแบบที่น่าสนใจทีเดียว

งานศิลปะในยุคดิจิทัล

กรณีที่น่าสนใจและเห็นภาพสะท้อนของศิลปะเชิงการเมืองได้ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมและชิ้นงานเชิงศิลปะสื่อสารเชิงสังคมและการเมืองในยุคศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สิ่งที่เรียกว่า “สตรีตอาร์ต” (street art) หรือศิลปะในพื้นที่สาธารณะ มีบทบาทอย่างมาก ศิลปินหลายรายส่งอิทธิพลทางแนวคิดและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ศิลปินอย่างแบงก์ซี (Banksy) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในแง่การทำงานของศิลปินยุคใหม่ที่สื่อสารแบบวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมการเมืองแบบไร้พรมแดน แบงก์ซีเป็นศิลปินสตรีตอาร์ตผู้มีพื้นเพเดิมในอังกฤษ ทำงานแบบไม่เปิดเผยตัวตนมาตั้งแต่ยุค 1990s ผลงานของเขาคืองานศิลปะในที่สาธารณะ พ่นสีสเปรย์บนพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางสังคม การเมือง สงคราม และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ผลงานที่ปรากฏมีเนื้อหาเชิงวิจารณ์และเสียดสีแบบเจ็บแสบ ไม่เพียงแค่การสื่อสารทางความคิดผ่านงานศิลปะเท่านั้น กิจกรรมของเขายังส่งผลมาถึงวิถีชีวิตของคนทั่วไปที่มีตัวตนจริง

Photo by GEOFF CADDICK / AFP

เขาสร้างผลงานที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย บางชิ้นถูกประมูลด้วยมูลค่าหลักล้านบาท งานศิลปะบนผนังที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างชิ้นแรก ๆ คือ “The Mild Mild West” ที่อาคารแห่งหนึ่งในเมืองบริสตอล เมื่อปี 1997 เป็นภาพหมีเท็ดดี้เงื้อมือปาระเบิดขวดใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ถือโล่ สื่อสารถึงปรากฏการณ์ทางสังคมในท้องถิ่น ซึ่งเริ่มมีการจัดปาร์ตี้สังสรรค์ในอาคารร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตในยุค 1990s จนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลและอาจกระทบกระทั่งกับนักเที่ยว

ขณะที่ผลงานในเชิงการเมืองที่น่าสนใจของแบงก์ซี อีกช่วงหนึ่งคือผลงานที่ปรากฏในปารีส ราวปี 2018 ชิ้นหนึ่งเป็นภาพเด็กหญิงผิวดำพ่นกราฟิตี้เป็นลายแบบวิกตอเรียนทับเครื่องหมายสวัสดิกะ เชื่อกันว่า เขาสื่อความหมายวิจารณ์วิถีนักการเมืองที่ปกปิดความผิดของตัวเอง และนโยบายที่ชวนนึกถึงระบอบเผด็จการฟาสซิสต์

อีกชิ้นหนึ่งที่ปรากฏในปารีส คือ ผลงานที่ล้อกับภาพวาดที่มีชื่อเสียงอย่าง “Napoleon Crossing the Alps” (นโปเลียนข้ามแอลป์) เขาวาดเป็นภาพบุคคลกำลังขี่ม้าในท่วงท่าเดียวกับนโปเลียน แต่บุคคลบนม้าคลุมผ้าสีแดงอยู่ เชื่อกันว่า เขากำลังวิจารณ์รัฐบาลที่ปิดหูปิดตาประชาชนด้วยโฆษณาชวนเชื่อและด้วยการสัญญาที่ไม่ได้ลงมือจริง

Photo by Thomas Lohnes / AFP

อีกหนึ่งหัวข้อที่แบงก์ซีมักเคลื่อนไหวก็คือ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามไปจนถึงคนกลุ่มน้อย กรณีล่าสุดคือข่าวเรื่องแบงก์ซี สมทบทุนตัวเองในภารกิจเรือกู้ชีพช่วยเหล่าผู้ลี้ภัยในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยแบงก์ซียังพ่นสีเรือด้วยเป็นโทนขาวผสมชมพู และมีภาพเด็กหญิงถือชูชีพทรงหัวใจสีชมพูอยู่ตรงกลางตัวเรือ เรือลำนี้ใช้ชื่อ “หลุยส์ มิเชล” (Louise Michel) ตั้งตามชื่อของชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งนิยมแนวคิดแบบอนาธิปไตย

ปรากฏการณ์ที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างศิลปะและการเมือง ถึงจะมีกลุ่มคนที่สร้างงานลักษณะนี้ปรากฏเสมอมา ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธได้ยากว่า มีผู้คัดค้านการนำศิลปะไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ข้อถกเถียงนี้ปรากฏอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ

เชื่อว่าคำกล่าวทำนองว่า “การเมืองอยู่รอบตัวเรา” นี้ก็คงเป็นเรื่องที่พูดถึงกันไม่จบไม่สิ้นอยู่แล้ว แต่มีข้อคิดอย่างหนึ่งที่น่าคิดทีเดียว ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ที่ศึกษาศิลปะร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ศิลป์ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์ (The101.world, 2017) ไว้ว่า

“การยืนยันหลักการหรือแนวคิดอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนอื่นยอมรับ มันเป็นเรื่องเชิงอำนาจ ซึ่งมีความเป็นการเมืองในตัวอยู่แล้วโดยไม่อาจปฏิเสธได้”

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าใครจะนิยามอย่างไร ตัว “ศิลปะ” แบบบริสุทธิ์ หรือที่มีการสื่อสารแบบเชิงการเมือง ย่อมมีอิทธิพลต่อคนในสังคมบ้างไม่มากก็น้อย ผลลัพธ์ของชิ้นงาน/กิจกรรมนั้นจะเป็นเครื่องบ่งชี้ตำแหน่งแห่งหน และตัวตนของ “ศิลปะ” ว่าจะมีที่ทางในโลกใบนี้อย่างไร และเราจะปฏิสัมพันธ์กับตัวผลงานอย่างไรบ้างก็ขึ้นกับการตัดสินใจของเราและท่านแล้ว