6 เล่มไฮไลต์งานสัปดาห์หนังสือ มติชน Book Journey สถานีกลางบางซื่อ

สำนักพิมพ์มติชนจัด Book Journey การอ่านคือการเดินทางที่ไม่มีสิ้นสุด เข้าสู่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-6 เม.ย. 2565 ที่สถานีกลางบางซื่อ ชั้น 1 (G-Floor) โดยมติชนประจำการที่บูท A16 ใกล้กับประตูทางออก และทางเชื่อมต่อ MRT สถานีกลางบางซื่อ พร้อมด้วยเวทีเสวนา โปรโมชั่น และกิจกรรมเอาใจนักอ่านมากมาย รวมถึงเปิดตัวหนังสือใหม่ 6 เล่มบนเส้นทาง Book Journey เป็นไฮไลต์ในงานนี้

ทหารของพระราชา
กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี

เขียนโดย เทพ บุญตานนท์ กล่าวถึงการก่อร่างกษัตริย์นิยมในกองทัพไทย พ.ศ. 2411-2500 ความหมายและความสำคัญของพิธีกรรม และพระราชกรณียกิจทางทหารของพระมหากษัตริย์หลังการปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่ พิจารณาลงไปในการก่อร่างสร้างความจงรักรอยร้าวในความภักดี ย้อนสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกองทัพไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปี พ.ศ. 2500

สำหรับผู้มาเดินงานวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย. ยังจะมีโอกาสได้ฟังนักเขียน เทพ บุญตานนท์ เสวนาหัวข้อ “กำเนิดทหารของพระราชา: สำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” ที่บูทมติชน A16 เวลา 16.00-17.00 น.

ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส

รวบรวมบทความของ ปิยบุตร แสงกนกกุล บอกเล่าการปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านรากฐานความคิด ปรัชญาการเมือง และอุดมการณ์ของนักปฏิวัติในประเด็นต่าง ๆ ทั้ง “ภูมิปัญญา” ที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งสภาแห่งชาติของสมาชิกสภาฐานันดรที่ 3 คําประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง การถกเถียงของสมาชิกสภาแห่งชาติเรื่องผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญคือใครระหว่าง “กษัตริย์” กับ “ชาติ”

ตามด้วยข้อถกเถียงสถานะกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญผ่านคดีประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 รวมถึงชีวิตและผลงานของซิแยส (Sieyès) และต็อกเกอวิลล์ (Tocqueville) ผู้รังสรรค์ผลงานเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสและระบอบประชาธิปไตย ทั้ง Qu’est-ce que le Tiers État (ฐานันดรที่ 3 คืออะไร), L’Ancien Régime et la Révolution (ระบอบเก่าและการปฏิวัติ), De La Démocratie en Amérique (ประชาธิปไตยในอเมริกา)

Advertisment

ปิยบุตร แสงกนกกุล จะมาร่วมเสวนา “อาวุธทางภูมิปัญญา สู่การปฏิวัติฝรั่งเศส” ในงานนี้ วันที่ 27 มี.ค. เวลา 13.00-14.00 น. และจะมาแจกลายเซ็นอีกวันที่ 28 มี.ค. เวลา 16.00-17.00 น. และวันที่ 30 มี.ค. เวลา 17.00-18.00 น.

ดีเอ็นเอปฏิวัติ

ชื่อเต็มว่า “Who We Are and How We Got Here ดีเอ็นเอปฏิวัติ” เขียนโดย เดวิด ไรช์ (David Reich) แปลโดย ก้อง พาหุรักษ์ ที่กล่าวถึงความก้าวหน้าทางพันธุศาสตร์ ทำให้นักวิจัยสามารถสกัด DNA ที่ครอบคลุมจีโนมทั้งชุดจากมนุษย์โบราณได้

การปฏิวัติ DNA โบราณครั้งนี้ฉีกทึ้งสมมุติฐานที่เรามีต่ออดีตอย่างไม่ยี่หระ เผยให้เห็นข้อเท็จจริงใหม่ของการอพยพย้ายถิ่นฐานและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรชนิดพลิกวงการ ทุกบททุกตอนของหนังสือเล่มนี้คือการค้นพบอันน่าตื่นเต้น และเป็นสิ่งยืนยันศักยภาพของ DNA โบราณที่ช่วยประกอบภาพจิ๊กซอว์ให้เราเข้าใจว่าเราคือใคร และมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เล่นแร่แปลภาพ
ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย

เขียนโดย นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจผู้มีผลงานเป็นเอกลักษณ์ เป็นผลงานหนังสือเล่มแรกของเขาที่แปลภาพถ่าย ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ ปะติดปะต่อเรื่องราวสยาม-ตะวันตก ซึ่งจะพานักอ่านเข้าไปสืบ เสาะ ส่องประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อยุคแสวงหาความศิวิไลซ์ในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ผ่านภาพถ่ายที่แฝงเรื่องราวและความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนกับตะวันตก

Advertisment

พบกับเจ้าของหนังสือ นักรบ มูลมานัส จะมาเล่าเบื้องหลังหนังสือเล่มนี้ในหัวข้อเสวนา “เล่นแร่แปลภาพประวัติศาสตร์” วันที่ 3 เม.ย. เวลา 11.00-12.00 น. พร้อมแจกลายเซ็นที่บูทมติชน

สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น

พลาดไม่ได้สำหรับผลงานยอดฮิตติดลมบนของ หนุ่มเมืองจันท์ ครั้งนี้เป็น “สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น” ซีรีส์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 34 ที่ได้ภาพถ่ายพิมพ์สีจาก พิชัย แก้ววิชิต มาร่วมถ่ายทอดมุมมองผ่านเลนส์กล้องไปพร้อม ๆ กับเรื่องราวสนุกสนานและอบอุ่นหัวใจ ทั้งยังแฝงไปด้วยข้อคิดดี ๆ อีกมากมาย ที่จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นความพิเศษในสิ่งธรรมดาสามัญที่อาจแค่เคยได้มอง

หนุ่มเมืองจันท์จะมาแจกลายเซ็นให้แฟน ๆ ที่บูทมติชน วันเสาร์ที่ 2 เม.ย. 14.00-15.30 น. จากนั้นวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย. หนุ่มอารมณ์ดีคนเดิมจะร่วมเสวนากับพิชัย แก้ววิชิต หัวข้อ “สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น ” เวลา 13.00-14.00 น.

ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล

เล่มนี้เข้ากับยุคโซเชียลในปัจจุบัน “My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล” เขียนโดย ทันยา กู๊ดดิน (Tanya Goodin) แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา

ปัจจุบันเราเปิดมือถือดูโซเชียลตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาตื่น เสพและแชร์ข่าวปลอมทางออนไลน์โดยไม่รู้ตัว ก้มหน้าดูโทรศัพท์แม้อยู่กลางวงสนทนา เทคโนโลยีค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเรา ให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่อาจแยกขาดจากมันได้ หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงการปรับสมดุลการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน

ผู้เข้าชมงานวันที่ 30 มี.ค. มาฟังการเสวนาหัวข้อ “ปิดแท็บชีวิต ปิดโซเชียล” โดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา และ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี ได้ในเวลา 15.00-16.00 น.

ยังไม่หมดเท่านี้ แฟน ๆ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ว่าจะเป็นแฟนหนังหรือแฟนหนังสือ พกหนังสือ “คนจรดาบ” มาขอรับลายเซ็นจากวิศิษฏ์ได้ที่บูทมติชน วันที่ 27 มี.ค. เวลา 13.00-14.00 น.

และขอเชิญชวนฟังเสวนาเด็ดเพิ่มเติมจากสำนักพิมพ์มติชน เข้ากระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในหัวข้อ “ก่อร่างเป็นบางกอก : เบื้องลึกเบื้องหลังนานาชาติพันธุ์ในบางกอก” โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร และ พวงทอง ภวัครพันธุ์ วันที่ 2 เม.ย. 2565 เวลา 14.00-15.00 น.

พิชัย แก้ววิชิต
มองภาพถ่ายคือชีวิต

บูทและของพรีเมี่ยมสวยสะดุดตาของสำนักพิมพ์มติชนครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง Matichon X Phichai Keawvichit-พิชัย แก้ววิชิต ศิลปินและช่างภาพผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พ่วงบทบาทล่าสุดคือคอลัมนิสต์แห่งมติชนสุดสัปดาห์ ถ่ายทอดภาพถ่ายสถานีกลางบางซื่ออย่างมีชีวิต

อดีตวินมอเตอร์ไซค์ที่รักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ สู่เส้นทางศิลปินที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในแวดวงศิลปะการถ่ายภาพ กล่าวว่า “การได้ออกไปถ่ายรูป นั่นคือวันที่ประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว มันคือวันที่เราได้เจอตัวเองว่าเรารักศิลปะ เราได้ออกไปถ่ายรูปในแบบที่เป็นเรา ในแบบที่ว่าฉันเป็นฉันจริง ๆ ไม่ได้เป็นวินมอเตอร์ไซค์ แต่เป็นคนหนึ่งที่มีตัวตน อันนี้แหละคือรางวัลที่ดีที่สุด”

ทั้งยังว่า “ผมเตือนตัวเองตลอดว่าเราไม่ใช่ช่างภาพ แต่เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มีความสุขกับมุมมองแบบนี้ และเล่าสิ่งที่เห็นอย่างตรงไปตรงมา”

สำหรับงานหนังสือที่สถานีกลางบางซื่อครั้งนี้ พิชัยกล่าวว่า “ผมอยากให้ทุกคนมาที่สถานีนี้ ในครั้งนี้มันเป็นสถานีแห่งหนังสือ ซึ่งหนังสือแต่ละเล่มก็จะมีจุดหมายปลายทางแตกต่างออกไป อยากให้ทุกคนมาท่องเที่ยว มาสัมผัสกับขบวนหนังสือในปีนี้ว่า เราอยากเดินทางไปไหน ปีนี้เราจะเดินทางผ่านหนังสือกัน”