กฟผ.ประเดิมนำเข้าก๊าซLNG ซื้อสปอตลอตแรก 1.5 ล้านตันลองระบบ

เปิดเสรีธุรกิจก๊าซ - กระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดให้เอกชนรายอื่นที่นอกเหนือจาก ปตท.เข้ามาทำตลาดก๊าซ LNG ตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจพลังงาน เริ่มที่ กฟผ.ที่ค่อนข้างมีความพร้อมและยังเป็นผู้ใช้ก๊าซรายใหญ่ของประเทศเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า

กฟผ.ยันเตรียมนำเข้าก๊าซ LNG นำร่อง เพื่อทดสอบและเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ในตลาด ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติแบบเต็มรูปแบบหรือมี เงื่อนไข คาดเจรจาซื้อขายก๊าซทั้งแบบในตลาดจรและแบบสัญญาระยะยาว

นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ในระหว่างดำเนินการเตรียมนำร่องเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวม 1.5 ล้านตัน/ปี

ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.มีมติให้เปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพียงรายเดียวเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ กฟผ.เข้ามาร่วมทดลองนำเข้า เพื่อเพิ่มผู้เล่น
ในตลาดก๊าซ LNG มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินการในขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และยื่นขอจองใช้ท่าเรือและคลังก๊าซของบริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด (บริษัทในเครือ ปตท.) รวมถึงเพื่อความคล่องตัวในการเจรจาซื้อขายก๊าซกับคู่ค้า จึงได้ยื่นขอยกเว้นให้การดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ของ กฟผ.ไม่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 ไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้การดำเนินการนำเข้า ก๊าซ LNG นำร่องดังกล่าว จะซื้อขายก๊าซทั้งแบบ 1) ตลาดจร (spot) ซึ่งขณะนี้ราคาในตลาดโลกราคาก๊าซ LNG ค่อนข้างถูกมาก ที่สำคัญคือตลาดเป็นของผู้ซื้อ และ 2) สัญญาระยะยาว (long term) โดย กฟผ.ได้วางแผนการดำเนินการเจรจาซื้อขายก๊าซ จะใช้ทั้งวิธีการซื้อจากตลาดจร และทำสัญญาระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่แหล่งก๊าซเกิดปัญหาและไม่สามารถจัดส่งก๊าซได้ตาม สัญญา สำหรับก๊าซ LNG ลอตแรกจะเข้ามาในช่วงปลายปี 2561 เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

“ลองซื้อมาก่อนสัก 1 คาร์โก้ เพื่อทดสอบระบบ เปิดและเชื่อมต่อและใช้ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG ของ ปตท. ส่วนหนึ่งทดสอบระบบดูว่าจะเกิดปัญหาหรือไม่ และหากเกิดปัญหาจะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ อาจจะมีเอกชนรายอื่นเข้ามาในตลาดมากขึ้น หากมีปัญหาอาจมีประเด็นฟ้องร้องภาครัฐจากเอกชนได้”

Advertisment

นายถาวรกล่าว เพิ่มเติมว่า ภายหลังการเริ่มทดลองนำเข้าแล้ว จะทำให้เห็นภาพของตลาดค้าก๊าซได้ชัดเจนมากขึ้น และอาจจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก๊าซ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและปลดล็อกในประเด็นที่จะเป็นอุปสรรคในการเข้ามาทำ ตลาดของเอกชนรายอื่น ๆ ได้อีกด้วย พร้อมทั้งจะทำให้ภาครัฐสามารถตัดสินใจในระดับนโยบายว่าจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ แบบเต็มรูปแบบหรือเปิดเสรีแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้เหมาะสมและไม่กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และที่สำคัญคือ ราคานำเข้าก๊าซจะต้องเป็นราคาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาค่า ไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้รับภาระ

อย่างไรก็ตาม สำหรับ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบทั้งการผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ มองว่าการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีความจำเป็นที่ต้องมีกำลังผลิต ใหม่เข้ามาในระบบเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบเอาไว้ ในส่วนของพลังงานทดแทนอาจจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมเท่านั้น และที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่มีจุดแข็งในการทำเกษตรก็ควรใช้ที่ดินเพื่อ รองรับการเกษตรน่าจะเหมาะสมมากกว่า

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กระทรวงพลังงานต้องการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และได้เริ่มดำเนินการถ่ายโอนการบริหารจัดการคลังก๊าซ จากเดิมที่กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำกับดูแล มาเป็นความรับผิดชอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแทน

เปิดเสรีธุรกิจก๊าซ 3 ระยะ

Advertisment

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซของกระทรวงพลังงานที่ได้ผ่านความ เห็นชอบในหลักการจาก กพช.คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการโครงสร้างนำร่อง เปลี่ยนโครงสร้างให้มีการแข่งขัน โดยให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าอีกราย เพื่อทดสอบระบบ ทั้งในการจัดหาก๊าซ การใช้สถานีก๊าซและระบบท่อส่งก๊าซ รวมถึงต้องมีการสร้างกติกาใหม่ ๆ และให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซให้เป็นอิสระจากการจัดหาและการจำหน่าย ระยะที่ 2 ระยะเปลี่ยนผ่านก่อนการเปิดเสรีเต็มรูปแบบ เปิดให้เอกชนรายอื่น ๆ เข้ามาดำเนินการ ทั้งการนำเข้าก๊าซ LNG การจัดหาและการจำหน่าย (shipper) และการลงทุนบริหารสถานีรับจ่ายและแปรสภาพ รวมถึงให้ ปตท.จัดตั้งผู้บริหารระบบท่อก๊าซ หรือ TSO (transmission system operator) เพื่อแยกให้เป็นอิสระจากการจัดหาและจำหน่าย ดำเนินการระบบท่อก๊าซและรักษาสมดุลและสร้างความมั่นคงให้ระบบ พร้อมทั้งให้มีระบบที่มีการแข่งขันการจัดหาก๊าซ LNG ให้เอกชนรายใหม่นำเข้าก๊าซ LNG ได้ เพื่อให้มี shipper หลายรายทำหน้าที่จัดหาและจำหน่ายก๊าซไปยังลูกค้าโดยตรง มีผู้ลงทุนและบริหารกิจการสถานีก๊าซ LNG รายใหม่มาเชื่อมต่อระบบ ฯลฯ

และ ระยะที่ 3 เปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบ มีผู้นำเข้า LNG และ shipper หลายราย ทำให้สัดส่วนของการจัดหา LNG เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การจัดหาและการใช้ก๊าซธรรมชาติภายใต้สัญญาเดิม (old supply) จะลดน้อยลง ส่งผลให้ตลาดพร้อมเข้าสู่ระบบการแข่งขันมากขึ้น