เช็กความพร้อม 14 ทุ่งรับน้ำ 2 ล้านไร่

ทุ่งรับน้ำ

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนความรุนแรงของ “พายุหมาอ๊อน” บริเวณทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพายุโซนร้อนลูกล่าสุดที่ขึ้นฝั่งทางประเทศจีนตอนใต้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยในปีนี้

เพราะยังมีการคาดการณ์ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “ลานิญา” จะทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ และจะมีพายุลูกใหม่ทยอยเข้าไทยต่อเนื่องไปถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม

หนทางรับมือระยะเร่งด่วนไทยต้องเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งการเร่งระบาย เพื่อพร่องน้ำ ให้มีพื้นที่สำหรับเก็บน้ำมากขึ้น และการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำหลาก และการเสริมความแข็งแรงของคันกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยง

รายงานข่าวจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยภาพดาวเทียม COSMO-SkyMed-1 (คอสโม สกายเมด 1) ระบุว่า ขณะนี้ไทยมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 225,031 ไร่

เป็นพื้นที่นาข้าว 78,261 ไร่ ใน 19 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร มหาสารคาม นครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา ปราจีนบุรี อุดรธานี ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด หนองคาย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ สกลนคร ชัยนาท อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ สระแก้ว และน่าน

Advertisment

ส่วนพื้นที่ทุ่งรับน้ำในบริเวณของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง รวม 2,276,251 ไร่ ใน 14 ทุ่ง (ตามกราฟิก) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวรอเก็บเกี่ยว 413,252 ไร่

ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน โดยเฉพาะคาดการณ์ว่าทุ่งผักไห่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวไปได้ประมาณ 90-95%

นอกจากนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในระยะออกรวงอายุ 9-12 สัปดาห์อยู่ 783,852 ไร่, พื้นที่ปลูกข้าวระยะแตกกออายุ 5-8 สัปดาห์อีก 162,985 ไร่ และระยะกล้าอายุ 1-4 สัปดาห์ 55,136 ไร่

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมปี 2021 พบว่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมักจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มในลุ่มน้ำหลักของแต่ละภาค ได้แก่

Advertisment

1.ลุ่มน้ำปิง วัง ยม ในภาคเหนือ 1.525896 ล้านไร่ 2.ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสัก ในภาคกลาง 2.103747 ล้านไร่ 3.ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ในภาคตะวันตก 2,771 ไร่ 4.ลุ่มน้ำโขง ชี และมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.963536 ล้านไร่

5.ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำปราจีนฯ ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ในภาคตะวันออก 445,414 ไร่ 6.ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนและตอนล่าง และทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ภาคใต้ 414,098 ไร่ รวมเป็น 7.455462 ล้านไร่ คิดเป็น 2.29% ของพื้นที่ทั้งประเทศ

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดว่า ขณะนี้ให้ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด

รวมถึงนิคมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 3 นิคม (นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, บ้านหว้า (ไฮเทค) และนครหลวง (หรือสหรัตนนคร) เฝ้าระวังและเตรียมแผนรับมือปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการขุดลอกคลอง การเตรียมระบบระบายน้ำและตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานเครื่องสูบน้ำ

โดยส่วนของการก่อสร้างคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554 นั้น เท่าที่ติดตามตรวจสอบยังเหลือในส่วนของนิคมนครหลวงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและตรวจรับมอบ

“เท่าที่รับทราบข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำ ยังประเมินว่าปีนี้ไม่น่ากังวลเท่ากับปี 2554 ซึ่งเป็นที่หลายเขื่อนประสบปัญหา และยังมีเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำอีก ส่วนปีนี้ช่วงต้นปียังประเมินกันอยู่ว่าปริมาณน้ำน้อยอาจจะเสี่ยงเกิดภัยแล้ง แต่พอมีพายุเข้ามาขณะนี้สถานการณ์มีปรับเปลี่ยนไป”