บอร์ด กนอ.ยึดโมเดลญี่ปุ่นต้นแบบอีเอฟซีมั่นใจเกิดใน 3 ปี

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยระหว่างการนำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเยี่ยมชม Ota Wholesale Market (ตลาดกลางโอตะ) แหล่งค้าส่งสินค้าเกษตร 4 ชนิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นด้วยวิธีการประมูล ประกอบด้วย ปลา ผัก ผลไม้ และดอกไม้ ประเทศญี่ปุ่น ว่า กนอ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นนิคมฯต้นแบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล องค์ประกอบสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้นจึงเตรียมนำระบบของญี่ปุ่นไปพิจารณา เพราะของญี่ปุ่นมีการกำหนดการรับซื้อที่เป็นธรรม หากเป็นสินค้าพรีเมี่ยมมีผู้ประกอบการค้าส่ง 4 รายที่ทำหน้ารับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และมาเปิดประมูลให้พ่อค้าคนกลางที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ จากนั้นจะพ่อค้าคนกลางจะกระจายสินค้าสู่ตลาด ซึ่งระบบนี้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระบบที่ดี ส่วนสินค้ามาตรฐานทั่วไปจะขายระบบปกติคล้ายตลาดไทของไทย นอกจากนี้รูปแบบตลาดกลางโอตะพบว่าหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นได้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินการ ดังนั้นในส่วนของไทยจะพิจารณาอีกครั้งว่าจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมาย หรือจะใช้วิธีออกเป็นประกาศแทน

“ภายใน 2-3 ปี อีเอฟซีจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพราะถือเป็นนโยบายสำคัญเพื่อดูแลเกษตรกรในภาคตะวันออก ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และตราด ดังนั้นขณะนี้ กนอ.จึงอยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูล โดย กนอ.มีแผนจะชักจูงการลงทุนในขั้นตอนต่อไป” นายพสุกล่าว

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การจัดตั้งโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค กนอ.ยังได้ร่วมศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการจาก Ota Wholesale Market หรือที่รู้จักกันในชื่อตลาดกลางโอตะ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่ง ผัก ผลไม้ และไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีระบบการประมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยการเข้ามาศึกษาตัวอย่างการดำเนินงานในครั้งนี้จะนำประโยชน์จากการระบบตลาดประมูลมาประยุกต์ใช้ในการซื้อขายผลไม้ในโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการต่อรองราคา ต่อเนื่องถึงการจัดทำห้องเย็นขนาดใหญ่สำหรับกักตุนผลผลิตที่รวบรวมได้จากเกษตรกร ก่อนกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ

นายวีรพงศ์กล่าวว่า โดยจะมีการศึกษา 4 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1.การตรวจสอบสินค้าก่อนประมูล ขั้นตอนที่ผู้รับช่วงค้าส่งและผู้มีสิทธิ์ซื้อ จะตรวจสอบสินค้าก่อนการประมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะนำไปขายต่อในราคาเท่าไหร่ 2.การเริ่มประมูล ขั้นตอนที่สินค้าทั้งหมดจะถูกนำมาประมูล โดยผู้ที่ให้ราคาที่สูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยการประมูลนั้นจะผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และผู้มีสิทธิร่วมประมูลจะประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต และพ่อค้าคนกลาง เท่านั้น 3.การตรวจสุขอนามัยของสินค้า เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลงจะมีการตรวจเช็คคุณภาพของสินค้า โดยจะมีหน่วยงานตรวจสอบสุขอนามัย ในสถานที่ประมูล สถานที่จำหน่าย และตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จะถูกระงับไม่ให้จำหน่ายทันที และ 4.การกระจายสินค้า โดยผู้รับช่วงค้าส่ง จะนำสินค้าที่ประมูลได้ออกจำหน่ายให้ผู้ซื้อในเวลาที่กำหนดไว้

นายวีรพงศ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ระบบการประมูลสินค้าเกษตรในรูปแบบนี้จะช่วยให้เกิดการรวบรวมสินค้าในปริมาณที่มากและหลากหลาย จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถควบคุมราคาโดยอาศัยหลักพื้นฐานของการประมูลผู้ให้ราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อสร้างราคาที่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร สามารถตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง มีข้อมูลที่สามารถตรวจเช็กได้ว่าเป็นสินค้าจากที่ไหน จำนวนเท่าใด ถูกส่งขายไปจำหน่ายต่อยังที่ใดบ้าง และราคาขายส่ง ณ วันนั้น อยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งสำหรับประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการผลิตผลไม้เมืองร้อน ทั้งผลไม้สดและแปรรูป ส่งผลไทยเป็นประเทศถือครองส่วนแบ่งตลาดผลไม้เมืองร้อนของโลกมากที่สุด สามารถคุมกลไกการค้าผลไม้เมืองร้อนได้ และทำให้เกิดการสร้างแบรนด์ประเทศไทยกับผลไม้ ให้ผู้บริโภครับรู้ว่าผลไม้ไทย เป็นผลไม้เมืองร้อนที่ดีที่สุด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์