เอ็กโก มุ่งสู่โรงไฟฟ้าสีเขียว ใช้ “ไฮโดรเจน” เชื้อเพลิงผสมลดปล่อยคาร์บอน

EGCO เอ็กโก้

การก้าวสู่ปีที่ 31 ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง หลังจากที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโลกกำลังมุ่งไปสู่ “พลังงานสะอาด” ด้วยการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นศูนย์

ขณะเดียวกันการเข้าสู่ธุรกิจผลิตพลังงานสีเขียวก็จะต้องแข่งขันทางด้านราคาได้ด้วย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะกินเวลาถึง 10 ปีข้างหน้านี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้เตรียมตัวกระจายความเสี่ยงในเรื่องของเชื้อเพลิงด้วยการรักษาโรงไฟฟ้าเก่า ควบคู่ไปกับการหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพื่อลด อาทิ ไฮโดรเจน ที่จะนำมาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวถึงทิศทางการเปลี่ยนผ่านธุรกิจโรงไฟฟ้าของเอ็กโกว่า จะกระจายความเสี่ยงการลงทุนเป็น 2 ด้านคือ โฟกัสไปที่ 8 ประเทศที่เป็นฐานผลิตไฟฟ้าหลักของกลุ่มที่ประเทศไทย-สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย-ออสเตรเลีย-เกาหลีใต้-ไต้หวัน-สหรัฐ

ควบคู่ไปกับการกระจายความเสี่ยงประเภทเชื้อเพลิงไปอย่างหลากหลาย ทั้งก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน, พลังงานหมุนเวียนทั้งลม-โซลาร์ และพลังงานทางเลือกอย่างไฮโดรเจน รวมถึง fuel cell

ใครมีไฮโดรเจนคนนั้นคือ OPEC

โดยเอ็กโกได้วางเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดยจะเริ่มก้าวสู่เป้าหมายแรกคือ การคาร์บอนอินเทนซิตี้ก่อนในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งตามไทม์ไลน์นี้ เอ็กโก้วางเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าให้ได้เฉลี่ยปีละ 1,000 เมกะวัตต์ (MW)

รวมทุกประเภท จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า (equity) อยู่ที่ 6,200 MW ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 MW ตามเป้าหมายหรือเรียกว่า “เราเข้าฮอตแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าหลักของเอ็กโก ยังคงเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แต่เป้าหมาย “คาร์บอนอินเทนซิตี้” ในปี 2023 ทำให้เอ็กโกต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ 10% ในอีก 7 ปีข้างหน้า ดังนั้นเอ็กโกจะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก

แต่จะไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (renewable) จาก 20% เป็น 30% ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ลม แสงแดด พลังงานความร้อนใต้พิภพ และไบโอแมส แต่ที่สำคัญเอ็กโกมีเป้าหมายจะพัฒนาพลังงานทางเลือกประเภท “ไฮโดรเจน” ประเภทต่าง ๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โดยจะเริ่มจาก “เกรย์ไฮโดรเจน” ก่อน

ทั้งนี้เอ็กโกเชื่อว่า “ไฮโดรเจน” จะเป็นพลังงานทางเลือกที่ตอบโจทย์ “ความมั่นคงของระบบ” ได้ดีกว่า “พลังงานหมุนเวียน” โดยจะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะ “พลังงานหมุนเวียน” ยังไม่แน่นอน หรือ variable renewable energy (VRE) ลมกับแดดไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24/7 หรือ 24 ชั่วโมง 7 วันได้

ฉะนั้นไม่สามารถเป็นพลังงานหลักได้ ถ้าต้องการเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้ายังจำเป็นต้องมีพลังงานฟอสซิลเป็น backup อยู่ นั่นหมายถึง ความต้องการพลังงานจาก fossil base ยังมีอยู่ และที่สำคัญต้นทุนจากพลังงานฟอสซิล

โดยเฉพาะถ่านหินที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 1 บาทกว่า ยังเป็นตัวช่วยดึงราคาให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นไปสูง 40-50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู”

ดังนั้นใครมีแหล่งผลิตไฮโดรเจนได้มากที่สุดก็เปรียบเหมือนคนนั้นเป็น OPEC

ลินเดน โรงไฟฟ้าต้นแบบ

สำหรับแนวทางในการพัฒนาพลังงานทางเลือก “ไฮโดรเจน” นั้น นายเทพรัตน์กล่าวว่า เอ็กโกได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาหลายส่วน ประกอบด้วย 1) โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือคอมไบน์ไซเคิล ได้ทดลองเพิ่ม “ส่วนผสม” จากไฮโดรเจนลงไปด้วย สร้างให้เกิด “เกรย์ไฮโดรเจน” (grey hydrogen) ซึ่งจะเป็นไฮโดรเจนประเภทที่มีต้นทุนแข่งขันได้

เพราะหากเพิ่มสัดส่วนไฮโดรเจน 20% เบื้องต้นไม่ต้องลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรในโรงไฟฟ้ามากเท่าไรนัก โดยขณะนี้ทดลองทำที่โรงไฟฟ้าลินเดนในสหรัฐให้เป็น “โรงไฟฟ้าไฮบริด” ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาไปสู่เป้าหมาย “คาร์บอนนิวทรอล” ของเอ็กโก

“ไฮโดรเจนจะมีแยกเป็นสีต่าง ๆ ตามแหล่งที่มา เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ องค์ประกอบคือ CH เมื่อแยก H หรือไฮโดรเจนออกมา ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป จะได้เป็นเกรย์ไฮโดรเจนก่อน แต่หากในอนาคตมีการพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกออกมาไปใส่ไว้ใต้ดิน (CCS) ก็จะกลายเป็นบลูไฮโดรเจน ซึ่งก็มีต้นทุนที่แพงขึ้น

ส่วนกรีนไฮโดรเจน จะมาจากพลังงานหมุนเวียน ที่เอาอิเล็กทรอไลต์ก่อนไปแยกน้ำออกมาแล้วเก็บรูปแบบไฮโดรเจน และไฮโดรเจนที่มาจากนิวเคลียร์เราเรียกพิงก์ไฮโดรเจน เป็นไฮโดรเจนที่สะอาดไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่วันนี้หากพูดถึงความคุ้มและแข่งขันได้ในช่วงนี้จะต้องเป็นเกรย์ไฮโดรเจนก่อน” นายเทพรัตน์กล่าว

โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจนนั้น ค่าไฟจะขึ้นอยู่กับราคาไฮโดรเจนที่ผสม เช่น ตอนนี้ผสม 20% จะมีสัดส่วนในโครงสร้างการคำนวณค่าไฟฟ้าประมาณ 60-70% ถ้าจำได้ปี 2565 ราคาก๊าซ LNG ขึ้นไป 40-50 เหรียญสหรัฐ ราคาที่ competitive ของไฮโดรเจน ถ้าเป็นกรีนไฮโดรเจน ซึ่งได้จากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 3 เหรียญสหรัฐต่อกิโลไฮโดรเจน หรือเทียบง่าย ๆ คือ จะ competitive ที่ราคาก๊าซ LNG 26 เหรียญสหรัฐ

แต่วันนี้ราคา LNG มันลดลงมาที่ 10 เหรียญสหรัฐ เท่ากับว่า การใช้ไฮโดรเจนจะยังไม่สามารถแข่งขันได้กับก๊าซ LNG แต่ไฮโดรเจนตอบโจทย์เรื่องการเตรียมพร้อมสู่การเป็น carbon neutral ตามเป้าหมายของเอ็กโก ที่สำคัญ “ไฮโดรเจน” ที่ผสมลงไปยังช่วยทำให้โรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ใช้งานได้ต่อไป โดยไม่ต้องขายทิ้งทันที ตราบเท่าที่ยังอยู่ในเป้าหมายเรา และการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังไม่เกิดขึ้น 100% จากข้อจำกัดต่าง ๆ ทางด้านราคาอยู่

นอกจากนี้ เอ็กโกยังร่วมกับโรงไฟฟ้า BLCP ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมในโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ด้วย เพื่อให้ต้นทุนในการพัฒนาและจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร หากต้นทุนการทำสูง แต่สามารถหักล้างด้วยการขายคาร์บอนเครดิตได้หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

อีกด้านหนึ่งของไฮโดรเจนไม่ได้เป็นเพียงเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่อีกมิติคือ เป็นเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งสามารถนำไฮโดรเจนไปทำปฏิกิริยาเคมี ได้ “fuel cell” ออกมา ตัวนี้จะได้ไฟฟ้าและน้ำ เป็นพลังงานที่ศักยภาพมาก เอ็กโกได้เริ่มทำในโรงไฟฟ้ากังดงที่ประเทศเกาหลี ขนาด 19 MW โดยการเกิดจากปฏิกิริยาเคมี หมายถึง “ไม่มีการเผาไหม้” ทำให้เป็น zero emission ในมิติความเขียวคือ ทำให้ใช้ฟอสซิลน้อยลงด้วย