“กอบศักดิ์” เปิดไทม์ไลน์ลงทุน ไตรมาส 4 ประมูล EEC 6 แสนล้าน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ และงบประมาณสำคัญของรัฐบาล ที่กำลังจะผลักดันออกมาในครึ่งปีหลัง 2561 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมและเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ประกอบด้วย โครงการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลตั้งใจว่า ให้นำสู่ขั้นตอนการประมูลให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ประมาณ 4-5 โครงการ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 520,000-600,000 ล้านบาท

เร่งประมูล 5 โปรเจ็กต์ EEC

ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงินลงทุนราว 200,000 ล้านบาท คาดว่าเดือนเมษายนจะเข้าสู่กระบวนการร่าง TOR และจะพบปะกับทูตทุกประเทศทั่วโลกเพื่อเสนอแผนงานและความคืบหน้าโครงการ EECให้การประมูลเป็นการแข่งขันระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

2.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง 3.โครงการท่าเรือมาบตาพุด วงเงินลงทุน 100,000 ล้านบาท คาดว่าประมาณครึ่งหลังของเดือนเมษายนจะมีการหารือกับเอกชน (market sounding) ในรายละเอียดเงื่อนไข 4.โครงการสนามบินอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำ market sounding กับเอกชนต่อเช่นเดียวกัน 5.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) วงเงินลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท

โครงการ EEC จะเป็นโครงการเรือธงหลักของรัฐบาล ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่กำลังจะขับเคลื่อนออกมา เช่น รถไฟทางคู่และรถไฟใต้ดินสายที่เหลือ โครงการโครงสร้างพื้นฐาน

Advertisment

อื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการ และโครงการขนาดกลางที่อยู่ระหว่างศึกษา เช่น โครงการรถไฟรางเบาในเมือง โครงการทั้งหมดรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจไว้ว่าจะผลักดันให้เรียบร้อยในปีนี้ เพื่อให้รัฐบาลถัดไปได้นำไปใช้

คิกออฟงบฯไทยนิยมฯ 1.5 แสนล้าน

ขณะที่ แผนงานโครงการและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะถูกขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากในครึ่งปีหลังอย่างเต็มตัว ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งประสบปัญหาราคายางตกต่ำ และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกองทุนช่วยเหลือ SMEs ของกระทรวงอุตสาหกรรม และมาตรการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากในครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับโครงการประชารัฐ ซึ่งจะทยอยออกมาเป็นระยะ ประกอบกับเมื่อผ่านไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ”61 ต่อเนื่อง

ไตรมาสแรกปี”62 มีการจัดสรรเงินเพื่อลงไปในโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านของรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisment

ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจปีนี้สามารถเดินต่อไปได้ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นในโลกครั้งใหญ่ เศรษฐกิจไทยก็จะไปได้ดี คาดว่าตัวเลขจีดีพีอยู่ในอัตราร้อยละ 4 หรือมากกว่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมไปได้ เงินงบประมาณกำลังจะลงไปในพื้นที่เศรษฐกิจฐานรากตามโครงการและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการดีขึ้นเรื่อย ๆ ที่เหลือก็เป็นการปรับโครงสร้างโดยการออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนชาวบ้านมากขึ้น เพื่อประชาชนฐานรากได้ยืนได้ด้วยตัวเอง

ดึงเอกชนลงขัน 1,000 ล้าน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การผลักดันเขียนกฎหมายให้ชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง ได้ประโยชน์ ขณะนี้ผ่านการศึกษาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อาทิ พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน คาดว่าจะเข้า ครม.ในเดือนพฤษภาคม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน พ.ร.บ.ขายฝากและ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน

โดยโครงการที่จะออกมากว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการคนไข้ติดเตียง โครงการยาเพื่อคนจน โครงการบูรณาการสวัสดิการของรัฐบาล กองทุนวิสาหกิจชุมชน 1,000 ล้านบาท กองทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม 1,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมและพอใจด้วยกันทุกฝ่าย คาดว่าจะเข้า ครม.ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

“ขณะนี้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ให้มาหมดแล้ว ติดขัดที่ประเด็นการนำเงินกองทุนที่เป็นงบประมาณของรัฐไปทำธุรกิจหรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงกำลังหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด”

“อาจจะมีกองทุนก็ได้แต่ไม่ใช้เงินงบประมาณของรัฐ แต่เป็นกองทุนที่ให้เอกชนบริจาคเข้ามาเพื่อให้คนที่อยากทำธุรกิจเพื่อสังคม เพราะภาคเอกชนบางบริษัทอยากช่วยเหลือสังคมแต่ไม่อยากทำเอง”

ลดขั้นตอนราชการ ลดต้นทุนเอกชน

ขณะเดียวกันมาตรการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอื่น ๆ และการแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ที่ล้าสมัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะการทบทวนการออกใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น 6,000 ใบอนุญาตให้เหลือเพียง 1,000 ใบอนุญาต เช่น การออกวีซ่าและ

ใบอนุญาตทำงาน (work permit) เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎหมาย 1 ฉบับสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะเชิญหอการค้าไทยและหอการค้าต่างประเทศมาหารือ

นายกอบศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ครึ่งปี”61 เป็นต้นไป มาตรการช่วยเหลือประชาชนรากหญ้าจะเริ่มกำลังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการให้ทุกอย่างไปได้ทันภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้าของปีนี้

เมื่อถึงฤดูกาลการเมืองเริ่มขึ้น รัฐบาลจะทำงานยากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มที่ ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นให้ได้ ส่วนตัวจะไม่รับงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนงานเดิมที่ตั้งใจไว้ให้เกิดขึ้นให้ได้ และโครงการที่อยากจะทำได้ประกาศออกมาทั้งหมดแล้ว

ต่อไปคือการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง