ฝนถล่มหนัก ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงกลับที่ตั้ง จ.นครสวรรค์

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม

ฝนถล่มหนัก กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนการปฏิบัติการ 11 หน่วยทั่วไทยกลับที่ตั้ง จ.นครสวรรค์ เริ่ม 16 ตุลาคม 2566 

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2566 โดยได้กำหนดให้ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยทั่วประเทศ ได้แก่

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก เชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ ระยอง นครศรีธรรมราช และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยให้เครื่องบินเดินทางกลับที่ตั้ง ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

“ตามที่ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่การเกษตรและปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเกษตร บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก และประกอบกับช่วงเวลานี้ประเทศไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งทำให้โอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงลดน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 3 ชุด โดยมีเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการชุดละ 2 ลำ ชุดที่ 1 เป็นเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำ ส่วนชุดที่ 2 และชุดที่ 3 ใช้เครื่องบินขนาดเล็กชุดละ 2 ลำ เพื่อพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่ยังมีความต้องการน้ำ ในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสมเป็นระยะสั้น ๆ เป็นการช่วงชิงสภาพอากาศในช่วงฤดูแล้งเพื่อรับมือสถานการณ์ความแห้งแล้งหลังจากนี้ไป

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2566 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง 188 วัน รวม 4,037 เที่ยวบิน มีการรายงานฝนตกจากการปฏิบัติการ 184 วัน คิดเป็นร้อยละ 89.1 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก 67 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 192.63 ล้านไร่ และมีน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 272 แห่ง ปริมาณน้ำสะสมรวม 599.73 ล้านลูกบาศก์เมตร

ADVERTISMENT

ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงในระยะต่อจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเน้นย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด

และให้ปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศมีความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การป้องกันไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน การบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10 และ PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องเกษตรกร ประชาชน เชื่อมั่นในศักยภาพของการปฏิบัติการฝนหลวงว่าสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอน และพี่น้องเกษตรกรและประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account TikTok : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 0-2109-5100 ต่อ 410