สงครามอิสราเอลดันราคายางแตะ 60 บาท กยท.เดินหน้าสกัดลักลอบนำเข้ายางเถื่อน

ราคายาง
ภาพจาก PIXABAY

สงครามอิสราเอลดันราคายางแตะ 60 บาท กยท.เดินหน้านโยบายสกัดลักลอบนำเข้ายางเถื่อน เร่งประสานเมียนมา พร้อมวางมาตรการใช้ดาวเทียมส่องการขนย้าย

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ราคายางแผ่นรมควันน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) และขณะนี้ราคายางพาราไทยสูงกว่าราคาเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา ประมาณ 10 บาท/กก.

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท

“ราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากเกิดจากการเอาจริงเอาจังกับมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพารา ตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) แล้วยังเกิดจากผลผลิตยางที่มีปริมาณลดลง เนื่องจากการปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ สงครามอิสราเอลที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทั่วโลก และผู้ใช้ยางพาราทั่วโลกก็กังวลต่อราคาที่อาจเพิ่มขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทสูงขึ้น ล้วนมีผลต่อราคายางพารา

อย่างไรก็ตาม จากราคายางพาราที่สูงขึ้น ทำให้ระยะห่างของไทยต่างจากเพื่อนบ้าน ทาง กยท.จึงได้หารือกับผู้แทนจากองค์การส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เพื่อวางแนวทางดูแลการลักลอบขนยางพาราผิดกฎหมายเข้ามาฝั่งไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ กำลังเร่งจัดการปราบปรามและป้องกัน ส่วนประเทศเมียนมาเองมีกฎหมายและระเบียบในการส่งออกยางพาราอยู่แล้ว พบว่าการลักลอบไม่ได้ขนเข้าไทยยังมีการลักลอบขนยางไปจำหน่ายในจีน อินเดีย

พร้อมกันนี้ การสกัดการลักลอบยางพาราของเพื่อนบ้าน ซึ่งราคาต่ำกว่าราคายางพาราไทย เกือบ 10 บาทนั้น ทาง กยท.ยังได้ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการตรวจสอบขบวนการขนยางพาราเพื่อนบ้านเข้าไทย ซึ่งได้ผลดีมาก

Advertisment

“กยท.ได้เตรียมขับเคลื่อนไปสู่การหารือกับเมียนมา โดยประสานงานถึงกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา และสถานทูตเมียนมา เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจังต่อไป”

นายณกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการความร่วมมือและจัดตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านพืชผิดกฎหมายขึ้น ซึ่งได้ประชุมหารือร่วมกำหนดแผน แนวทางการปราบปราม ทั้งการตรวจสต๊อกยางตามแนวชายแดน การเคลื่อนย้าย รวมถึงรวบรวมข้อมูลปริมาณยางคงเหลือ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการตามแนวทางที่วางไว้โดยทันที พร้อมรายงานผลการดำเนินงานให้คณะทำงานทราบทุก 15 วัน

สำหรับ กยท. พร้อมให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามแนวทางอย่างเต็มที่ โดยการลงพื้นที่เข้าตรวจสถานประกอบการผู้รับใบอนุญาตค้ายาง ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและหน่วยงานปกครอง เข้าตรวจสอบทะเบียนร้านค้า การทำบัญชีผู้รับซื้อยางพารา

พร้อมชี้แจงให้ร้านค้าในพื้นที่ทราบเกี่ยวกับโทษในการรับซื้อยางพาราที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับควบคุมสถาบันเกษตรกรไม่ให้รับซื้อยางที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงตั้งจุดสกัด โดยหลังจากนี้จะร่วมเข้าตรวจสต๊อกยาง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542

Advertisment