เริ่มสรรหา กก.แข่งขันชุดใหม่ TDRI ห่วง “นอมินี” บริษัทใหญ่โผล่เข้าร่วม

พาณิชย์เดินหน้าสรรหา คกก.แข่งขันฯ ชุดใหม่ เม.ย.นี้ หลัง พ.ร.บ.การแข่งขันฯ บังคับใช้ ด้านนักวิชาการห่วง “นอมินีบริษัทใหญ่” แฝงตัวร่วม-เกณฑ์ควบรวมไม่ชัดกระทบธุรกิจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าในการคัดเลือกกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ หลังจาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ส่งผลให้ต้องแยกสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ และตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ จากเดิม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 กำหนดให้สำนักงานการแข่งขันฯ สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ส่วนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาจากการแต่งตั้ง และมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ประกาศการคัดเลือกกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการสรรหากรรมการการแข่งขันทางการค้าทันที โดยเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อมาดำเนินการในเดือนเมษายน 2561 เมื่อได้คณะกรรมการการแข่งขันฯ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า แม้ว่าการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่าไม่ให้มีตัวแทนจากหน่วยงาน หรือองค์กรใด แต่ยังห่วงว่าจะมีกรรมการที่อาจมาจากบริษัทรายใหญ่ แม้จะกำหนดว่าต้องลาออกก่อนเข้ารับตำแหน่งกรรมการการแข่งขันฯ แต่ก็ยากที่จะมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นจะเข้ามาทำหน้าที่อย่างจริงจังไม่เอื้อประโยชน์รายใหญ่

ส่วน “กรรมการการแข่งขันฯ” ที่เป็นนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวนนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ยังมีน้อยมาก และก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเข้าร่วม เนื่องจากต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบ หากผู้มาสมัครกรรมการมีความรู้ด้านการแข่งขันทางการค้าฯ ไม่มาก แต่มีความเป็นกลางและมีข้อมูล หรือมีความคุ้นเคยด้านอื่น ๆ ก็มองว่ามีความเหมาะสม ทั้งนี้ ควรมีการเปิดเผยข้อมูลการรับสมัคร แสดงวิสัยทัศน์อย่างโปร่งใส

“กฎหมายฉบับใหม่เป็นสิ่งที่ดี เพราะคณะกรรมการการแข่งขันฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ไม่อยู่ภายใต้การเมือง และยังมีการปรับเปลี่ยนข้อบังคับ บทลงโทษให้เหมาะสมมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ยังห่วงเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ควบรวมธุรกิจที่ไม่ชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนมีความกังวลในเรื่องนี้มาก เพราะหากควบรวมกิจการไปแล้วพบว่าเข้าข่ายกระทำผิดอาจส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น ควรประยุกต์นำรูปแบบเกณฑ์การควบรวมของออสเตรเลียมาปรับใช้

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่อง การคัดเลือกกรรมการการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2561 ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกรรมการการแข่งขันทางการค้าทั้ง 7 คนทันที โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องแต่งตั้ง “กรรมการสรรหาคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ขึ้นมาก่อน จำนวน 9 คน เพื่อทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการแข่งขันฯ

องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเลือกประธานสรรหา 1 คน จากนั้นประกาศเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ารับคัดเลือกเป็นเวลา 30 วัน และจะประกาศรายชื่อผู้สมัครเป็นเวลา 7 วันเพื่อให้ทราบโดยทั่วไป

ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง-พรรคการเมือง ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต และไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลที่ต้องคําพิพากษาต้องโทษ หรือถูกให้ออกจากราชการ เป็นต้น

แต่ประเด็นที่สำคัญคือ กฎหมายนี้ได้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามพิเศษ (มาตรา 10) ขึ้นมาอย่างเข้มงวด

เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจะเปิดให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการลงคะแนนเมื่อครบ 7 คน จะเลือกตัวประธานกรรมการและรองประธาน ก่อนเสนอชื่อต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยจะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ต่อได้ 2 วาระ