“ธรรมนัส” รมว.เกษตรฯหารือญี่ปุ่น เร่งส่งออกกล้วยโควตา JTEPA 8 พันตันยังเหลือ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

“ธรรมนัส” รมว.เกษตรฯหารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เร่งเครื่องส่งออกกล้วยไทย ยังไม่เต็มโควตา JTEPA ปีละ 8,000 ตัน พร้อมแนวทางพัฒนาภาคเกษตร เตรียมขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย

วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายนะชิดะ คะสุยะ (H.E. Mr.Nashida Kazuya) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและคณะ

ซึ่งการหารือในครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และยกระดับความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกล้วยหอม ซึ่งภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยจำนวน 8,000 ตันต่อปี แต่ที่ผ่านมายังใช้สิทธิไม่เต็มโควตา

ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรม และเกษตรอัจฉริยะ เพื่อทุ่นแรงงานคน ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นยินดีส่งเสริมและสนับสนุนด้านบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-JAPAN Midori Cooperation Plan)

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

Advertisment

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงความสนใจในการพัฒนาสินค้าประมงและประสงค์จะมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในอนาคตต่อไป

ขณะที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ขอเชิญประเทศไทยเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ. 2570 (International Horticultural Expo 2027) ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มีนาคม-26 กันยายน 2570 โดย รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรประสานงานกับฝ่ายญี่ปุ่น พร้อมทั้งขอเชิญประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ในปี 2569 และงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.นครราชสีมา ในปี 2572

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยระหว่างปี 2563-2565 การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,856,311 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 164,324 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.85 ของมูลค่าการค้ารวมสินค้า สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่นในปี 2566 (ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 38,446 ล้านบาท

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

Advertisment

โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) เนื้อไก่ 2) เนื้อของสัตว์ปีกแช่แข็ง 3) อาหารสุนัขหรือแมว 4) ปลาทูน่ากระป๋อง 5) ยางแผ่นรมควัน 6) กุ้งปรุงแต่ง 7) ยางธรรมชาติ (TSNR) 8) ข้าว 9) กุ้งอื่น ๆ แช่แข็ง และ 10) เนื้อสัตว์อื่น ๆ หรือแมลงปรุงแต่ง

และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) ปลาซาร์ดีนแช่แข็ง 2) ปลาแมกเคอเรลแช่แข็ง 3) ปลาแอลบาคอร์แช่แข็ง 4) ปลาสคิปแจ็กแช่แข็ง 5) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส 6) เนื้อโคกระบือแช่แข็ง 7) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ เช่น เต้าหู้ 8) ปลาทะเลอื่น ๆ สดหรือแช่เย็น 9) ปลาปรุงแต่งที่ใช้แทนคาเวียร์ และ 10) ปลาแซลมอนแปซิฟิกอื่น ๆ แช่แข็ง