เปิดรายชื่อสินค้าตัวท็อปใช้สิทธิ GSP ส่งออกตลาดสหรัฐครองแชมป์ Q3/66

ส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศ เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระบบ GSP ส่งออก ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มูลค่า 2,591.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐครองแชมป์อันดับ 1 ใช้สิทธิ GSP ส่งออก 2,375.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ กรดมะนาว (หรือกรดซิทริก) อาหารปรุงแต่ง และกระเป๋าใส่เสื้อผ้า ถุงมือยาง นำลิ่ว

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 2,591.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 53.61% และตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 2,375.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 91.66% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ GSP

ทั้งนี้ จากการติดตามสถิติการค้าพบว่าสหรัฐ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยและมีการใช้สิทธิ GSP สูงสุดอีกด้วย โดยในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 สินค้าดาวเด่นของไทยที่มีการใช้สิทธิ GSP สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มูลค่า 402.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กรดมะนาว (หรือกรดซิทริก) มูลค่า 130.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารปรุงแต่ง มูลค่า 110.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระเป๋าใส่เสื้อ มูลค่า 104.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถุงมือยาง มูลค่า 91.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ซึ่งการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐนั้น ทำให้ไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐ และสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ส่งออกไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐ สูง อาทิ เลนส์แว่นตา ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ขนมที่ไม่มีโกโก้ผสมทำจากน้ำตาล เป็นต้น

สำหรับโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูง อาทิ เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (สวิตเซอร์แลนด์) หน้าปัดนาฬิกาชนิดคล็อกหรือวอตซ์ (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด (นอร์เวย์) สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (CIS) เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศพร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือ โทร.สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชั่น ชื่อบัญชี “@gsp_helper”