หมูไม่ขยับราคา ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติผนึก 6 สมาคม ยื่น 9 ข้อนายกฯ ปราบหมูเถื่อน

วันพระนี้ผู้เลี้ยงหมูไม่ขยับราคา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผนึกพันธมิตร 6 สมาคม ขอบคุณนายกฯเศรษฐา พร้อมยื่น 9 ข้อเรียกร้องเร่งปราบหมูเถื่อน

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 49/2566)

วันพระที่ 12 ธันวาคม 2566 ทรงตัว ดังนี้

ภาคตะวันตก กก.ละ 66-68 บาท
ภาคตะวันออก กก.ละ 70 บาท
ภาคอีสาน กก.ละ 72 บาท
ภาคเหนือ กก.ละ 74 บาท
ภาคใต้ กก.ละ 70 บาท

ลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม ก็ทรงตัว 1,600 บาท บวก/ลบ 68 บาท

Advertisment

โดยในวันนี้นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วยอีก 6 สมาคม คือ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ได้เข้าพบและขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ปราบปรามหมูเถื่อนจริงจัง

พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอ 9 ประเด็นสำคัญ ที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นองค์ประกอบให้ภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร สามารถเดินหน้าและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ ประกอบด้วย

1.เร่งรัดดำเนินคดีผู้นำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย

Advertisment

2.ขอให้เร่งรัดมาตรการทางการเงินให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุน-วิกฤตด้านราคาสุกรตกต่ำ

3.เนื่องจากสุกรเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ จึงขอให้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าสุกรและสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มให้เกิดความเป็นธรรม สามารถปรับเพิ่มราคาขายได้ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้

4.ขอให้ระงับการนำสินค้าสุกรเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) ตราบใดที่ภาคปศุสัตว์ของไทย ยังคงต้องแบกรับผลผลิตพืชอาหารสัตว์ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก

5.ห้ามการจำหน่ายสินค้าเนื้อสุกรสด ในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของสินค้าในระหว่างการจัดส่งผ่านช่องทางการขนส่งทั่วไปที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายซากสัตว์

6.ขอให้กำกับดูแลราคาสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เข้มงวดในการบังคับใช้ประกาศมาตรฐานการหักลดน้ำหนักเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้นของกรมการค้าภายใน เพื่อไม่ให้ผู้รวบรวมรับซื้อข้าวโพดท้องถิ่นกดราคารับซื้อจากเกษตรกรเกินความเป็นจริง รวมถึงให้มีการพิจารณาทบทวนวิธีการคำนวณหักน้ำหนักความชื้นให้เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และรูปแบบการเพาะปลูก

7.ขอให้ยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน การกำหนดระยะเวลานำเข้าข้าวโพด AFTA และให้มีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าแทน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีราคาวัตถุดิบที่สูงกว่าทุกประเทศในโลก และพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ภาษีกากถั่วเหลือง 2%, ภาษีกากเบียร์ (DDGS) 9% และภาษีปลาป่น 15% รวมถึงภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านต่อมายังผู้เลี้ยงสัตว์

8.พิจารณาโครงสร้างราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าที่ขายภายในประเทศตามต้นทุนการผลิตจริง เนื่องจากมีการตั้งราคาอ้างอิงตลาดโลก โดยบวกค่าขนส่งและภาษีนำเข้า 2% ไปในราคาขาย ตราบใดที่การนำเข้ากากถั่วเหลืองยังคงมีภาษีนำเข้า 2% เท่ากับผู้ประกอบการที่ซื้อกากถั่วเหลืองในประเทศจะต้องเสียภาษีให้กับผู้ขายในประเทศไปโดยปริยาย ซึ่งที่ผ่านมามักจะได้รับการกล่าวอ้างว่ารายได้ส่วนนี้มีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศ เปรียบเสมือนเกษตรกรปศุสัตว์ต้องช่วยจ่ายค่าน้ำมันถั่วเหลืองให้ผู้บริโภคทั้งประเทศ

9.ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GAP และส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี GMO หรือ Gene Editing ที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสายพันธุ์ที่ได้ผลผลิตสูง ที่เหมาะสำหรับเป็นพืชอาหารสัตว์โดยตรง โดยภาคเอกชนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

“รอบนี้การขยับขึ้นของราคาสุกรขุนในทุกภูมิภาคยังคงมีการกระจายตัวต่ำ ฐานยังไม่แน่นอย่างครอบคลุม ต้นทุนอาหารสัตว์ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน ที่ยังไม่มีการเปิดเผยและแก้ไขอย่างจริงจัง ที่เป็นปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน 9 มาตรการที่กลุ่มเกษตรกรเข้าพบ ขอบคุณและยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเศรษฐาในวันนี้”