“กอบศักดิ์” นำคณะบีโอไอเยือนบังกลาเทศ ชี้โอกาสนักลงทุนตั้งฐานผลิตรับตลาดในภูมิภาคเอเชียใต้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายก เตรียมนำคณะผู้ประกอบการไทย เยือนบังกลาเทศศึกษาลู่ทางและโอกาสตั้งฐานผลิต เพื่อขยายตลาดส่งออก ชี้บังกลาเทศเป็นประเทศที่น่าสนใจ มีศักยภาพรับลงทุนได้ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ เกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว ยา พลังงานทดแทน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม 2561 นี้ จะนำคณะผู้บริหารของบีโอไอ พร้อมด้วยภาคเอกชน อาทิ ผู้พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการกลุ่มพลังงานทดแทน ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร และสมาชิกสภาธุรกิจไทย-บังกลาเทศ เดินทางไปกรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เพื่อศึกษาลู่ทางและโอกาสที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายฐานการผลิตสินค้า รวมถึงสามารถสร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจและเข้าถึงตลาดสินค้าส่งออกได้กว้างขึ้นทั้งภูมิภาคเอเชียใต้

กิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ คณะผู้ประกอบการไทยจะได้ร่วมกิจกรรมพบหารือกับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนของบังกลาเทศ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการเยี่ยมชมโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจต่างๆ ของบังกลาเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกันต่อไปในอนาคต

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากประเทศผู้รับการลงทุนที่สำคัญในอาเซียน ไปสู่การเป็นผู้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นจากแรงผลักดันภายใน อาทิ การขาดแคลนแรงงานในระดับปฏิบัติการ นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการอิ่มตัวของตลาดภายในประเทศ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ความต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งนับว่าบังกลาเทศเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังแสวงหาการไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและขยายฐานการผลิต

“รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ แก่ประชาชน ประกอบกับบังกลาเทศยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในฐานะประเทศกำลังพัฒนา จากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แต่ยังมีกำลังการผลิตไม่ถึงโควต้าที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริหารระดับสูงของบังกลาเทศเดินทางมาเยือนไทยเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ยังได้เชิญชวนและแสดงความสนใจที่จะให้นักลงทุนจากไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศ อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งบังกลาเทศมีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มูลค่าการส่งออกในแต่ละปีประมาณ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแรงงานที่มีฝีมือด้านสิ่งทอจำนวนมาก และบริษัทผลิตเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของโลกเข้าไปตั้งโรงงานผลิตและยังได้รับสิทธิ GSP จากประเทศพัฒนาแล้ว

อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป เนื่องจากบังกลาเทศมีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช ประกอบกับประชากรในวัยแรงงานยังอยู่ในภาคเกษตรมากถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด จึงเอื้อต่อการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการทำธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร อาทิ เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งยาฆ่าแมลงและปุ๋ยต่าง ๆ กิจการห้องเย็นเพื่อใช้เก็บวัตถุดิบ ผักและผลไม้สด อาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศพร้อมให้สิทธิการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกิจการโรงแรม อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในบังกลาเทศ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 15.65 ต่อปี โดยส่งออกไปยัง 88 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา

และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โดยบังกลาเทศเริ่มให้ความสนใจกับการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อาทิ ไบโอแก๊ส พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น เนื่องจากร้อยละ 40 ของประชากรยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีโครงข่ายไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานทางเลือก

ล่าสุด มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศแล้ว อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยน้ำแร่ จำกัด บริษัทไทยเพรสซิเด้นส์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) และบริษัทดับเบิ้ล เอ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น