คิกออฟวันแรก เกษตรกร ลงทะเบียนขอโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. แล้ว 2 แสนราย

ลงทะเบียนขอโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.

ธรรมนัส พร้อม Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร 15 ม.ค. 2567 นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน มั่นใจจะไม่มีกลุ่มนายทุน-นอมินี เข้ามาสวมสิทธิ์ในการรับโฉนดแน่นอน ลงทะเบียนแล้ว 2 แสนราย

วันที่ 10 มกราคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างแถลงข่าว Kick off การมอบโฉนดเพื่อการเกษตร เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ว่า ในวันที่ 15 ม.ค. 2567 นี้ จะเป็นการ Kick off ในการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งเป้าหมายในการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล แจกฉบับแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ต้องการให้เกษตรกรมีทรัพย์สินและมูลค่าเพิ่มจากที่ดิน รวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนนำมาสู่นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันแก้กฎหมายกฎระเบียบของการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกร และสามารถประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดย ส.ป.ก. จะขับเคลื่อนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

ทั้งนี้ จะมีการ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญ เพิ่มสุขปีใหม่ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ในวันที่ 15 มกราคม 2567 จำนวน 25,000 ราย พร้อมกันทั่วประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรจำนวน 1,000 ฉบับ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สำหรับส่วนภูมิภาคกำหนดจัดงาน ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในแต่ละจังหวัด

“การเปลี่ยนเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน จาก ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และเป้าหมายต้องการแจกโฉนดให้กับเกษตรกรกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน ในที่ดิน 22 ล้านไร่ ให้ได้ ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะเข้ามาผลักดัน พร้อมจะหารือกับทุกฝ่ายในการเดินหน้าในครั้งนี้ด้วย”

Advertisment

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการป้องกันการฉวยโอกาสของกลุ่มนอมินี นายทุน กระทรวงเกษตรได้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการเข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อป้องกันการถือครองจากกลุ่มนี้เพราะเป้าหมายต้องการให้ประโยชน์กับเกษตรกร ที่มีคุณสมบัติผ่านครบถ้วน พร้อมกันนี้ยังจะประชาสัมพันธ์ ไปยังกลุ่มที่เข้าไม่ถึงข้อมูลเข้ามาลงทะเบียนในการขอรับโฉนดเพื่อการเกษตรครั้งนี้ด้วย

ขณะที่เรื่องทำโฉนดต้นไม้ในเขต ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิสำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพาราที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ โดยจะมีการดำเนินโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 โดย ส.ป.ก. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการโครงการส่งความสุขปีใหม่ เพื่อมอบของขวัญให้แก่เกษตรกร อีกทั้งช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับเกษตรกรและประชาชน ตลอดจนเพื่อส่งมอบความสุขจากรัฐสู่ประชาชน

ลงทะเบียนแล้ว 2 แสนราย

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า จากการเปิดให้เกษตรกรเข้ามาลงทะเบียนเพื่อคัดกรองการขอโฉนดเพื่อการเกษตร ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ปัจจุบันมีเข้ามาทั้งสิ้น 2 แสนราย โดยจะเร่งคัดกรองเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนที่จะมีการดำเนินการแจกโฉนดต่อไป โดยเป้าหมายภายใน 5 ปีจะเร่งดำเนินการแจกโฉนดให้กับเกษตรกรทุกจังหวัด โดยการดำเนินงานครั้งนี้ ได้รับอนุมัติงบประมาณ 20 ล้านบาท เป้าหมายจะแจกให้ได้ 500,000 ฉบับ

Advertisment

สิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร มีดังนี้

1. เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิ์ให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด

2. เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส.หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น

3. สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4. สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ อบก.

5. ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ