เศรษฐานำทัพบุก “ศรีลังกา” ประเดิมเซ็น FTA ใหม่รับปีมังกร

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การสร้างแต้มต่อด้วยการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุครัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งมีนโยบายใช้ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เป็นกลยุทธ์หลัก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศป้ายแดงที่มีอายุน้อยที่สุด ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ด้วยความเชี่ยวชาญในฐานะลูกหม้อกรมเจรจา จึงมีความพร้อมในการสานงานเจรจาทันที

FTA ฉบับแรก “เศรษฐา”

ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA รวม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ คือ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ในปี 2565

“ปีนี้กรมพร้อมที่จะเร่งเดินหน้าสรุปการเจรจาเอฟทีเอที่คงค้าง ยกระดับเอฟทีเอเดิม และเอฟทีเอฉบับใหม่ให้ได้เร็วขึ้น โดยความตกลง FTA ไทย-ศรีลังกา ซึ่งเจรจาจบไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 จะเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของรัฐบาลนี้ที่จะลงนาม ในช่วงวันชาติของศรีลังกา”

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลศรีลังกาที่จะเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์นี้

ไทยได้อะไรจาก FTA

เอฟทีเอไทย-ศรีลังกา เริ่มเจรจาครั้งแรกเมื่อปี 2561 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ การสร้างโอกาสในตลาดเอเชียใต้ เพราะศรีลังกาถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ตั้งกลางมหาสมุทรอินเดีย มีท่าเรือโคลัมโบที่สามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก การเจรจาครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีทั้งสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน ทั้งยังมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ด้วย

สำหรับการเปิดตลาดสินค้าไทย-ศรีลังกา ได้กำหนดให้ปรับลดภาษีเป็น 0% ทันที ในสัดส่วนสินค้า 50% ของจำนวนสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน โดยเป็นของไทยกว่า 10,000 รายการ และศรีลังกา 8,000 รายการ และที่เหลือจะทยอยลดต่อไป ซึ่งคาดว่าสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออก จะมีทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ พลาสติก การแปรรูป สิ่งทอ แบตเตอรี่ การท่องเที่ยว ก่อสร้าง ขนส่งและโลจิสติกส์ ค้าปลีก การเงิน ประกันภัย

เซ็นต่อ “ไทย-เอฟต้า”

ส่วน FTA ฉบับที่ 2 ที่กรมคาดว่าจะลงนามได้ในรัฐบาลนี้คือ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป ตั้งเป้าหมายจะลงนามเดือน มิ.ย. 2567 นี้เช่นกัน

“ผลการศึกษา หากไทยสามารถลงนามเอฟทีเอได้ทั้ง 2 ฉบับ ทั้ง FTA ไทย-ศรีลังกา และ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) จะช่วยให้ไทยมีจีดีพีขยายตัว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 35,000 ล้านบาท ตลาดเอฟตาถือเป็นกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่ไทยยังไม่เคยมีเอฟทีเอมาก่อน ซึ่งไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น 0.142% สร้างการเติบโตจีดีพี 886 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดศรีลังกา จะส่งออกเพิ่มขึ้น 0.02% สร้างการเติบโตจีดีพีได้ 118 ล้านเหรียญสหรัฐ”

เร่งเครื่อง FTA ไทย-อียู

ขณะที่แผนการเจรจา FTA ในปี 2567 ไทยจะเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปจากที่ได้เริ่มเจรจาไปแล้ว 1 รอบ เมื่อปีก่อน ก็จะมีการเจรจารอบที่ 2 ต่อปีนี้

โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพราะรัฐบาล ภาคเอกชน ให้ความสำคัญ และมีการเร่งรัดการเจรจากรอบดังกล่าวโดยเร็ว

“หากเอฟทีเอไทย-อียูสำเร็จประเทศไทยจะได้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังยุโรป รวมถึงการดึงดูดนักลงทุนอียูให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของไทย”

จ่อเปิดเจรจา FTA ใหม่ 5 ฉบับ

สำหรับ FTA ไทย-เกาหลี เป็นอีกหนึ่งฉบับที่เกิดจากทั้ง 2 ประเทศให้ความสนใจที่จะเปิดเจรจาร่วมกัน โดยฝ่ายไทยสนใจที่จะขยายตลาดส่งออกมะม่วงไปยังเกาหลีใต้ เพราะปัจจุบันถูกเก็บภาษีนำเข้า 20% ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในอาเซียนที่ได้สิทธิลดภาษีนำเข้า 0% ส่วนเกาหลีใต้ก็ต้องการมะม่วงของไทยด้วย โดยคาดว่าจะเปิดการเจรจาได้ในไตรมาส 2 ปีนี้

นอกจากนี้ยังมี FTA อีกหลายฉบับที่เตรียมเปิดการเจรจาในปีนี้ เพื่อเป็นแต้มต่อสำคัญในการแข่งขันของไทย เช่น FTA ไทย-ภูฏาน คาดว่าจะเริ่มเปิดเจรจาช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยภูฏานมีความต้องการที่จะนำเข้าสินค้าจากไทยหลายรายการ

และ FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ยังล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องเจรจาเพิ่มเติมกันอยู่ และต้องหาจุดสมดุลให้ได้ก่อน ส่วน FTA อาเซียน-แคนาดา ได้เริ่มเปิดเจรจาแล้ว ตั้งเป้าเจรจาให้แล้วเสร็จในปี 2568

ไม่เพียงการเปิดเจรจาใหม่เท่านั้น กรมยังมีแผนการเจรจาอัพเกรดเอฟทีเอฉบับเดิมให้มีความทันสมัย หลาย ๆ ฉบับ เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ และปีนี้จะลงนามอัพเกรดได้ 1 ฉบับคือ เอฟทีเอ อาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย รวมไปถึงการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (เจทีซี) ระดับรัฐมนตรีกับคู่ค้าของไทย อาทิ กัมพูชา เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว และจีน เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

หนุนตั้งกองทุน FTA

อีกภารกิจที่ต้องสานต่อคือ การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเอฟทีเอให้สามารถปรับตัวได้ โดยล่าสุดกรมอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอขึ้นมา และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากนี้จะเร่งสรุปความเห็นเรื่องแหล่งที่มา และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุน เพื่อนำเสนอให้ ครม.พิจารณา เมื่อเห็นชอบแล้ว ก่อนเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาผู้แทนราษฎร

“กองทุนเอฟทีเอตั้งเป้าหมายว่าจะทำสำเร็จปี’68 และมีเงินประเดิมกองทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แผนการเจรจา FTA การเดินหน้ากองทุน การยกระดับการเจรจาเดิม เป็นสิ่งที่กรมจะเร่งเดินหน้าเต็มที่ เพื่อเป็นแต้มต่อสำคัญในการส่งออกไทยในปี 2567 นี้”

เสริมความเข้าใจเรื่อง FTA

การเจรจาเอฟทีเอเป็นภารกิจหลัก แต่อีกด้านหนึ่ง กรมจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ศอ.บต. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เอฟทีเอด้วย

“ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการลงไปให้ความรู้ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงราย ราชบุรี จันทบุรี บุรีรัมย์ ขอนแก่น สงขลา และยะลา เพื่อให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปในพื้นที่ออกไปยังตลาดคู่ค้าเอฟทีเอ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากด้วย”