เสียงแตกเลือก ผู้ว่าฯ กนอ. ตัดเชือก”จักรรัฐ-คมกฤช”

แฟ้มภาพ

สรรหาผู้ว่าการนิคมป่วน กรรมการเสียงแตกเลือกคนในสานงานต่อ-คนนอกปรับระบบงานใหม่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งมีนายไพรสัณฑ์ วงศ์สมิทธิ์ เป็นประธาน เปิดให้ผู้ลงสมัครผู้ว่าการ กนอ. 4 คน ซึ่งประกอบด้วย นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ สายงานบริการและลูกค้าสัมพันธ์, นางสาวสมจิณณ์ พิลึกรองผู้ว่าการ สายงานกิจการพิเศษ,นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และนายจุมพลเด่นเมฆา อดีตรองผู้อำนวยการ (ธุรกิจ) สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เข้าแสดงวิสัยทัศน์ หลังจากดำเนินการเปิดรับสมัครมาเกือบ 3 เดือน นับจากวันที่ 25 มกราคม 2561

ทั้งนี้ การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นการภายใน ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลบุคคลซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพิจารณาคัดเลือก 4 ผู้สมัครได้

แหล่งข่าวจาก กนอ.กล่าวว่าหลังจากฟังการแสดงวิสัยทัศน์แล้ว คณะกรรมการสรรหายังไม่ได้ข้อสรุป เพราะมีความคิดเห็นเป็นไป 2 ด้าน โดยส่วนหนึ่งต้องการสนับสนุน ฝั่งนายจักรรัฐซึ่งถือเป็นผู้บริหารภายใน กนอ. ดูแลบริหารและรับผิดชอบงานภายในมาตลอด มีความชำนาญทั้งในส่วนงานบริหารหลักของ กนอ. คือการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายภาครัฐที่สำคัญอย่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การทำโรดแมปศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อเดินหน้าโครงการภาครัฐให้ต่อเนื่อง

แต่อีกด้านมีกระแสการสนับสนุน “นายคมกฤช ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวเก็งสำคัญอีกคนหนึ่ง เนื่องจาก กนอ.จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างการบริหารงานใหม่ที่ชัดเจน คล่องตัว และรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สอดรับและเร่งขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐ ดังนั้นการได้บุคคลจากข้างนอกองค์กรจะสามารถปรับการบริหารงานภายในได้ใหม่ ถ้าเป็นคนในอาจจะใช้รูปแบบเดิม แต่มีข้อจำกัดว่า หากเลือกคนใหม่จะต้อง

“ใช้เวลานาน” กว่าจะสามารถดำเนินงานได้ ซึ่งอาจส่งผลให้การเดินหน้าทั้งในส่วนงานพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และการเดินหน้านโยบายรัฐจะช้าอย่างไรก็ตาม ตามกระบวนการหลังจากรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์แล้ว ทางคณะกรรมการสรรหาจะต้องสรุปคะแนน และนำรายชื่อเสนอบอร์ดใหญ่ซึ่งมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม แต่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่าต้องแล้วเสร็จภายในกี่วัน ขณะเดียวกันหากไม่สามารถพิจารณาจากคุณสมบัติที่เหมาะสมก็อาจเปิดรับสมัครใหม่ เพื่อสรรหาใหม่ก็เป็นได้