กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืบหน้า ลุยเปิดรับฟังความคิดเห็น 6 ภูมิภาค

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

“พัชรวาท” มอบหมายกรมโลกร้อน เร่งขับเคลื่อนจัดทำร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 6 ภูมิภาค ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์-27 มีนาคม 2567

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เร่งจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะบังคับใช้ให้ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อเกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงมาตรการรายงานการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก มาตรการกลไกราคาคาร์บอนในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย อีกทั้งความร่วมมือกับนานาประเทศในการลดปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลก

ล่าสุดกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เริ่มจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พร้อมเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-27 มีนาคม 2567 ทั้ง ณ สถานที่จัดการประชุมและผ่านระบบออนไลน์

Advertisment

ซึ่งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ณ โรงแรมอวาธานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ทั้งยังมีกำหนดการในอีก 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี วันที่ 1 มีนาคม 2567 ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี วันที่ 8 มีนาคม 2567 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 13 มีนาคม 2567 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 21 มีนาคม 2567 ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร วันที่ 26 มีนาคม 2567 ซึ่งจะแจ้งสถานที่ให้ทราบอีกครั้ง

โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครบทั้ง 6 ภาคเรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เพื่อนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ต่อคณะรัฐมนตรีให้ทันภายในกลางปี 2567 นี้

สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นผลมาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

Advertisment

ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และเพื่อให้การดำเนินการไปสู่เป้าหมาย จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือกลไกภาคบังคับและการส่งเสริมที่เข้มงวดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงยกระดับความสามารถในการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน