พิมพ์ภัทรา “ดึง” ภราดัย “คราฟต์ช็อกโกแลต” แชมป์เหรียญทองโลกปั้นโกโก้ฮับ

chocolate bar
chocolate bar

“พิมพ์ภัทรา” ดึง “ภราดัย คราฟต์ช็อกโกแลต” แชมป์รางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Awards 2021 พี่เลี้ยงปั้นอุตสาหกรรมโกโก้ สู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียน เปิดตลาดสินค้าพรีเมี่ยม กระตุ้นเศรษฐกิจ 8,000 ล้านบาท เตรียมตั้ง “สมาคมโกโก้”

วันที่ 14 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้า ที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นถึงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือประมาณ 240,000 บาท (ณ 1 มีนาคม 2567) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียว ซึ่งมีการซื้อขายอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันโกโก้ นับว่าเป็นราคาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการโกโก้ที่มีอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมี่ยม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ

เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงนับว่าเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโกโก้ไทย ที่จะมีโอกาสเติบโตไปยังตลาดโลก และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดัน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

Advertisment

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ “ภราดัย” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021

โดยทาง ภราดัย มีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐ มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ GMP GHPs Halal การเพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น เช่น Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO เป็นต้น ตลอดจนการสนับสนุนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน ทางภราดัยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับทางภาครัฐ โดยนำจุดแข็งที่ทางภราดัยมีอยู่แล้ว มาร่วมถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ (Cupping Cocoa) เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้ และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังจากการรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการภราดัย ทางทีมดีพร้อม (DIPROM) จะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ในการเตรียมความพร้อม และตรวจประเมินสำหรับยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดฮาลาลในอนาคต

Advertisment

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการ “ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้” ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์

ขณะเดียวกัน ยังได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการบ่มหมักเมล็ดโกโก้ เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ อาทิ เครื่องผ่าผลสดโกโก้ เครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้

ในส่วนของกลางน้ำ/ปลายน้ำ จะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโกโก้บัตเตอร์มาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจหาสารสำคัญ อาทิ กรดไขมันอิสระ (free fatty acid) การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์ การส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐานต่าง ๆ

การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้ และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา

ทางทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้นำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชไปเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ ทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Reshape The Accessibility) ด้านการตลาดด้วยการผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม

อาทิ กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Super Food) โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เพื่อขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซูเปอร์ฟู้ด (Super foods) และเทรนด์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้มากขึ้น และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท