SMEs หนี้พุ่ง 20% “พิมพ์ภัทรา” เร่ง SME Bank เพิ่มวงเงินกู้ 100 ล้าน ผ่อนยาว 15 ปี

“พิมพ์ภัทรา” กังวล SMEs กลุ่มเปราะบางหนี้พุ่งเร่ง SME D Bank ออกมาตรการสินเชื่ออุ้ม ขยายกรอบวงเงินกู้จาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน แบงก์เผยพบกลุ่มสีแดง สีส้ม หนี้พุ่ง 10-20% ขณะที่ผ่านมาดึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 2.3 แสนราย

วันนี้ 11 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME D Bank) ว่า จากการหารือกับทางแบงก์ ทุกหน่วยงานกำลังเร่งกันหาทางออกและมาตรการช่วยเหลือ SMEs เนื่องจากพบว่ายังมีกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ปัจจุบันมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่ขยายสินเชื่อการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในเรื่องของพลังงาน รับมือกับกติกาโลกที่กำหนดเรื่องการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ยังมีโครงการติดปีก SMEs หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อม (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) ค้ำประกันให้ และเพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ยังให้แบงก์เร่งออกมาตรการและโครงการช่วยเหลืออื่น ๆ เพิ่มเติม ล่าสุดยังขอให้มีการขยายวงเงินกู้จาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากได้รับการเห็นชอบ จะทำให้ SMEs มีเงินทุนเพียงพอในการเดินหน้าธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายการทำงานแก่คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุน SMEs กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมดำเนินการผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้านการเงิน เตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่ม SMEs วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน

นอกจากนี้ยังใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และยังพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้งช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท

ส่วนด้านการพัฒนา จะยกระดับศักยภาพ SMEs ผ่านโครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3.เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน

ทั้งนี้ SME D Bank ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ประชาชนและ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มรหัส 21 (วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี อีกทั้งระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี นอกจากนั้น ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank ว่า ปัจจุบัน NPL SMEs อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เป็นหนี้เดิม 6,000 ล้านบาท และหนี้ใหม่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ใหม่นี้พบว่าเป็นกลุ่มสีแดงและสีส้มพุ่งขึ้น 10-20% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ ซึ่งแบงก์พยายามบล็อกลูกหนี้ส่วนนี้ไว้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และเร่งเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากกังวลว่าจะส่งผลให้ NPL ของแบงก์เพิ่มขึ้น และต้องการให้กลุ่มเหล่านี้สามารถลุกขึ้นและเดินหน้าต่อได้