สมาคมอาหารสัตว์ เอ็มโอยู USSEC ดึงโมเดลถั่วเหลืองยั่งยืนสหรัฐต้นแบบ

โมเดลถั่วเหลืองยั่งยืนสหรัฐ

สมาคมอาหารสัตว์ฯ ลงนามข้อตกลง “USSEC” ดึงโมเดลถั่วเหลืองยั่งยืนสหรัฐต้นแบบสร้างวัตถุดิบยั่งยืนในไทย คาดความต้องการอาหารสัตว์ของไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 4.5% จากปี 2567-2572

วันที่ 22 มีนาคม 2567 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและสภาการส่งออกถั่วเหลืองแห่งสหรัฐอเมริกา (USSEC) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลในการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยั่งยืน

รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ ให้ตอบสนองความต้องการสินค้าปศุสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ หวังเป็นต้นแบบให้การผลิตข้าวโพด มัน ข้าว และปลาป่น ปรับตัวเป็นวัตถุดิบยั่งยืนของไทยได้ในเร็ววัน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจอาหารสัตว์และปศุสัตว์ของไทย มีความพร้อมที่จะเดินหน้าเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาคมให้ความสำคัญมาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่าสิบปี

ปีนี้ความต้องการผลิตอาหารสัตว์ของไทยอยู่ที่ประมาณ 21.3 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้ากว่า 60% และยังใช้วัตถุดิบภายในประเทศอีกประมาณ 40% ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี หรือแม้แต่วัตถุดิบภายในประเทศอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ข้าว และปลาป่น จะต้องเข้าสู่ระบบการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้ง 100% ด้วย

“ความร่วมมือกับ USSEC ในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างในการจัดหาถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่มีความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นแหล่งความรู้ที่จะช่วยเร่งให้ไทยสามารถพัฒนาระบบการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว หรือปลาป่น เพราะราคาจะไม่ใช่สิ่งแรกที่ตลาดถามหาอีกต่อไป แต่ค่าการปล่อยคาร์บอนของสินค้าชิ้นนั้นต่างหากจะเป็นสิ่งแรกที่ตลาดถามถึง ซึ่งไทยต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้” นายพรศิลป์กล่าว

ขณะที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยมีความพยายามในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างวัตถุดิบที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมในนามของภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนินการตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนในแปลงปลูกข้าวโพดและกระบวนการผลิตปลาป่น ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประมวลผล

อย่างไรก็ตาม การทำข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนของสมาชิกสมาคมได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การส่งออกอาหารของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ท่ามกลางความท้าทายในการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบอาหารสัตว์ของประเทศคู่ค้า

ข้อตกลงความร่วมมือสร้างวัตถุดิบที่ยั่งยืนระหว่าง 2 หน่วยงานนี้ ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาพิธีการรับรองความยั่งยืนของวัตถุดิบถั่วเหลืองจากสหรัฐ (SSAP-Soy Sustainability Assurance Protocol) ที่สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ ตลอดจนข้อแนะนำด้านความโปร่งใสในระบบห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่สำคัญคือ USSEC จะสนับสนุนด้านวิชาการและกลไกการรายงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานโลก เพื่อสนับสนุนให้การผลิตอาหารสัตว์และการปศุสัตว์ของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับมาตรฐานที่โลกต้องการ

นายจิม ซัทเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ USSEC กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ คาดว่าความต้องการอาหารสัตว์ของไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 4.5% จากปี 2567 ถึง 2572

โดยความต้องการในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ USSEC พร้อมมากที่จะร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในการเปิดทางสู่อนาคตที่แข็งแกร่งในภูมิศาสตร์การเกษตร ทั้งภาคการผลิตพืชวัตถุดิบ การผลิตภาคปศุสัตว์และการผลิตอาหารของประเทศไทย

สำหรับถั่วเหลืองของสหรัฐมีรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับถั่วจากแหล่งที่มาอื่น ๆ โปรตีนพืชอื่น ๆ และน้ำมันพืช ตั้งแต่ปี 2523 เกษตรกรถั่วเหลืองของสหรัฐได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในการปลูกถั่วเหลืองถึง 60% เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ดินได้ถึง 48% ปรับปรุงการอนุรักษ์ดินได้ถึง 34% และเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองได้ถึง 130% โดยใช้พื้นที่ปลูกเท่าเดิม

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้โมเดลถั่วเหลืองของสหรัฐมาพัฒนาในหลายด้าน เช่น การลดรอยเท้าคาร์บอนในโรงงานอาหารสัตว์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรดินและน้ำ การลดการใช้สารเคมีในการเกษตร

และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารสัตว์ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอาหารสัตว์ เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ