ชลัช ชินธรรมมิตร์ จาก “น้ำตาลขอนแก่น” สู่พลังงานไฟฟ้า

ชลัช ชินธรรมมิตร์
ชลัช ชินธรรมมิตร์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ยังคงต้องตกเป็นจำเลยตลอดทุกครั้งที่เกิดมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน แม้ว่าข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้อย่างภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก็แสดงให้เห็นจุดความร้อนหลักมาจากพื้นที่ป่า

เมื่อไม่สามารถแก้ต่างได้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ต่างช่วยกันพยายามลดมลพิษทางอากาศให้ได้มากที่สุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายชลัช ชินธรรมมิตร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ภายใต้แบรนด์ “KSL” ถึงแผนการดำเนินงานปี 2567 รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาทางตรงและทางอ้อมของฝุ่น PM 2.5

รับซื้อใบอ้อย 1,000 บาท/กก.

ปีนี้เราก็เป็นอีกปีที่ต้องปรับตัวมาก เพราะปีที่ผ่านมาเราโดนกดดันเรื่องอ้อยไฟไหม้มาก ชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่งยังยอมที่จะเผาอ้อย ด้วยเขาต้องแบกรับกับต้นทุนหลายอย่าง ค่าจ้างแรงงานก็คือส่วนสำคัญ ส่วนการแก้ปัญหาเราจะใช้แค่การจับ ปรับมันคงไม่พอ สิ่งที่ต้องทำคือรัฐต้องเข้ามาส่งเสริม ซึ่งมันก็ไม่ยากที่โรงงานน้ำตาลจะร่วมมือด้วยการรับซื้อใบอ้อย

“การรับซื้อใบอ้อยเป็นแนวทางที่ต่างคนต่างร่วมกันปรับตัว ชาวไร่อ้อยเขาก็โดนตราหน้าว่าเป็นเพราะเผาอ้อย ทำให้เกิดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าตอนนี้โรงงานน้ำตาลได้ปิดหีบไปแล้ว 3 สัปดาห์ แต่สังคมก็ยังมองว่าปัญหาต้นตอของฝุ่นยังคงมาจากชาวไร่อ้อยที่เผาอ้อยอยู่ดี”

ซึ่งเราก็ยอมรับว่าเรามีส่วนทำให้เกิดฝุ่น แต่เราเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หรือแค่ 3-4% เท่านั้น หากรัฐจะแก้ปัญหาโดยมามุ่งให้คนที่มีสัดส่วนที่น้อยแก้ มันคงไม่น่าใช่ แต่เราก็ต้องปรับตัว ปรับปรุง เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ อย่างที่เรารับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ 1,000 บาท/กก. เราก็ต้องลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ม้วนใบอ้อย รัฐเองก็ต้องช่วยส่งเสริมให้เราด้วย ตอนนี้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรให้ แต่มันก็ยังไม่พอ รัฐควรมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น ลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เพื่อเป็นแรงจูงใจ

ผลิตไฟจากชีวมวลขอรัฐรับซื้อ

เรามีโรงงานน้ำตาลรับอ้อยในพื้นที่เข้ามา มีการลงทุนหลายอย่างในแต่ละปี การเริ่มรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่เพื่อมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานหมุนเวียน เราได้หารือร่วมกันมานาน และได้เสนอต่อทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อเป็นตัวกลางหารือกับทางกระทรวงพลังงานในการให้รัฐรับซื้อไฟจากโรงงานน้ำตาลที่ใช้ใบอ้อยผลิตไฟฟ้า ในราคาตั้งแต่ 3.00 บาท 3.10 บาท หรือจะ 3.20 บาท จากเดิมที่รับซื้อ 2.70 บาท

ซึ่งก็ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) ได้ยกหูถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว

แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพิจารณา แต่หากย้อนกลับไปดูนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทางกระทรวงพลังงานก็ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนการให้เกิดพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จึงได้จัดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่เมื่อโรงงานน้ำตาลเกิดพลังงานหมุนเวียนขึ้น ภาครัฐกลับเพิกเฉย ถ้ารัฐชัดเจนบอกเรามาเลยว่ามีให้ 500 เมกะวัตต์ จะรับซื้อที่ราคาเท่านี้ก็จบ เราจะได้รู้ เพราะการที่เรารับซื้อใบอ้อยนี่จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะลดการเผาอ้อยทางอ้อม เนื่องจากเรารับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ นั่นหมายความว่าเขาต้องตัดอ้อยสดมาให้เรา แล้วจึงจะได้ส่วนที่เหลือคือใบอ้อยที่เราเอามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

แต่หากรัฐบอกว่ามีสัดส่วนให้ 5,000 เมกะวัตต์ แต่รับซื้อไฟที่ราคา 2 บาท เป็นผมก็ไม่ขาย เพราะราคามันไม่เหมาะสม เรามีการลงทุนเครื่องจักร เครื่องม้วน และอีกหลาย ๆ อย่าง อยากให้รัฐบาลเข้าใจตรงนี้ด้วย ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทำเพื่อแค่ KSL แต่ทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลพร้อมใจกันปรับตัวแล้ว เหลือเพียงการส่งเสริมและความชัดเจนจากภาครัฐเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราจะขยายไปสู่ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า

เพิ่มการผลิตน้ำตาล Low GI

ผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมา เราจับมือกับ บริษัท นูทริชั่น อินโนเวชั่น จำกัด ในการเข้าถึงสิทธิบัตร Nucane เทคโนโลยีการผลิตน้ำตาล มีคุณสมบัติในการรักษาสารพอลิฟีนอลจากอ้อย ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นน้ำตาลทรายจากอ้อยธรรมชาติที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) เป็นรายแรกและรายเดียวของไทย ถือเป็นการขยายธุรกิจไปตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพ ด้วยกำลังการผลิต 148 ตัน

1 ปีที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตที่ดีพอสมควร ปีนี้ 2567 จึงเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,000 ตัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยราคามันค่อนข้างที่จะสูง การทำตลาดจึงค่อนข้างที่จะเจาะจง เราถึงต้องวางขายในห้างที่อยู่ในโซนคนต่างชาติ อย่างในวิลล่า หรือมีแค่บางสาขาเท่านั้น เพราะมันเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ต้องใช้การอธิบายที่ค่อนข้างมาก บางกลุ่มอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ที่ผ่านมาก็สามารถทำยอดขายได้

ปีนี้เราพยายามให้ทีมการตลาดเร่งทำแผนเพื่อขายให้มากขึ้น เช่น การทำสื่อโฆษณา เพราะถ้าใช้เวลาแค่ 10-20 นาที คนจะยังไม่เข้าใจ ที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงลองผิดลองถูก เป็นช่วงที่เราจะได้ฟีดแบ็กจากลูกค้า ซึ่งหากเราอยากให้โตกว่านี้เราก็ต้องเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เมื่อถึงตอนนั้นแน่นอนราคามันก็จะถูกลง แต่เรามองว่ามันแมสไป เราอยากให้สินค้าเข้าถึงคนกินโดยตรงมากกว่า

เดินหน้าสร้างโรงงานใหม่

สำหรับภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 1 ปีนี้รายได้ 3,337 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 3,727 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากการจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 2,717 ล้านบาท รองลงมาคือไฟฟ้า 361 ล้านบาท และรายได้จากปุ๋ย น้ำมัน และอื่น ๆ 209 ล้านบาท สาเหตุที่รายได้ปรับลดลงมาจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยเสียหาย และราคาปุ๋ยและสินค้าอื่น ๆ ปรับลดลง แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าปรับขึ้น 4% ตามการปรับค่าเอฟที

บริษัทมีแผนการลงทุนในปี 2567 ยังเป็นการลงทุนต่อเนื่องในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ 3,500 ล้านบาท ในอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ขนาดกำลังการผลิต 1,200 ไร่ โรงใหม่นี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดเดินเครื่องได้ปลายปี 2567 กำลังการผลิต 20,000 ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งจะผลิตน้ำตาล Low GI ประมาณ 20-30% น่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาล Low GI นี้ได้ถึง 2,000 ตัน