เปิดเสรีไฟฟ้ารับลงทุน จาก RE10 สู่ RE100 ไม่กระทบค่าไฟ

นที สิทธิประศาสน์
นที สิทธิประศาสน์
สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากนายกรัฐมนตรีวางบทบาท “เซลส์แมนเศรษฐา” จัดคณะออกไปดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามามากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นที สิทธิประศาสน์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงทิศทางพลังงานหมุนเวียน (RE) ของไทย

พลังงานหมุนเวียนไทย

ปัจจุบันตัวเลขการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 53,809 เมกะวัตต์ (MW) มีสัดส่วนการผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน 11% แต่ขณะนี้ไทยกำลังจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ 2024 มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ส่วนก๊าซธรรมชาติ 30-40% ไฮโดรเจน 5-20%

โดยมาจากการพิจารณา 3 เรื่อง คือ ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ประกอบกับปัจจัยที่การจัดทำแผนต้องคำนึงถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคการผลิตไฟฟ้า ลดลงเหลือ 41.5 ล้านตันคาร์บอนในปี 2593 เพื่อเข้าสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนทำให้มีแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนมีโอกาสเพิ่มขึ้น

นายกฯดึงลงทุนดันดีมานด์เพิ่ม

จากการที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นำคณะออกไปดึงดูดการลงทุน จะทำให้ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้นมาก เพราะทุกคนมาก็ต่างเล็งหาไฟฟ้าสีเขียว RE ทั้งนั้น เพราะเป็นโซลูชั่นสำคัญตัวปัญหาของโลกร้อนภาวะเรือนกระจกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ตอนนี้จึงต้องค่อย ๆ ลด ละ และสุดท้ายค่อยเลิก

อย่างถ่านหินก็ชัดเจนจะลดละเลิกภายในก่อนปี 2050 ก็จะหมดแล้ว ของแม่เมาะ แต่ก๊าซธรรมชาติยังไม่หมด ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติก็ยังควรต้องอยู่ช่วยผลิตไฟฟ้า สัดส่วน 15-20% ไม่ใช่จะหายไปทั้งหมด

Advertisment

ถามว่าแล้ว Emission จะอย่างไร ตอบได้ว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นฟอสซิลที่สะอาดที่สุดอยู่แล้ว แล้วถ้าเกิดเราสามารถพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) แล้วมายูทิไลฟ์ (ใช้ประโยชน์ได้) ในราคาที่รับได้ โรงไฟฟ้าก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมาให้เราใช้ประโยชน์ได้ ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเสริมความมั่นคง และยังมีเทคโนโลยี ใหม่ เช่น ไฮโดรเจน และอื่น ๆ เข้ามาอีก

เอกชนพร้อมไหม RE100

“ถามว่าเอกชนต้องการไหม คือ วันนี้ระบบตอบโจทย์ไฟฟ้า RE100, RE50, RE30 ไม่ได้ เพราะวันนี้ ไฟฟ้า RE ในระบบอยู่ที่ประมาณ 11% นั่นคือหมายถึงRE10 แต่เอกชนบอกว่าไม่พอแล้ว คือ ปีนี้ต้อง RE30 ปีหน้า RE50 ปี 2030 ต้อง RE100”

ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการได้ใช้ไฟ RE สัดส่วนเพิ่มขึ้น ก็ต้องส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุนผลิตไฟฟ้าสีเขียวแล้วซื้อขายกันเอง ผ่านสายส่งของการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าเสียโอกาสในการขาย ดังนั้น คนที่มาใช้สายส่งต้องจ่ายค่าสายส่งให้กับการไฟฟ้าก็ยังได้บ้างเพื่อแทนค่าไฟที่ขายได้ ทุกคนต้องอยู่ได้ ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ข้อเสนอกลุ่ม RE

หนึ่งในข้อเสนอสำคัญของภาคเอกชนคือ ไทยควรเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจากรูปแบบผู้ซื้อรายเดียว (ESB-Enhanced Single Buyer) ไปสู่การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะเข้ามา โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกรอบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า RE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม

Advertisment

ขณะที่แนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access และกำหนดอัตราค่าบริการในการใช้ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าเมื่อมีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่เหมาะสม และเตรียมการสำหรับ Direct PPA โดยไม่ชักช้า

“โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท รวมถึงในอนาคตต้องสามารถใช้กองทุน Climate Change ใน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการพัฒนาพลังงานสะอาดได้”

สูตรค่าไฟหากเปิดเสรีไฟฟ้า

“เรื่องการเปิดเสรีไฟฟ้า การกำหนดค่า Wheeling Charge ที่เหมาะสมนั้น ทางกระทรวงพลังงานน่าจะมีการศึกษามาอยู่แล้ว มีหลายโมเดล แต่ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับเจ้าของสายส่ง คือ การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค-การไฟฟ้านครหลวง)”

โดยตัวแรกคือ ค่าบริการเสริมความมั่นคง (Ancillary Service) คือ ไฟฟ้าที่เขาต้องสำรองไว้ ให้แน่ใจว่าไฟฟ้าไม่ขาด ไม่ตก ไม่ดับ ซึ่งมีอัตราที่ 7 สตางค์ต่อหน่วย 2) ค่าวีลลิ่งชาร์จ กรณีเอกชนซื้อขายไฟกันเองแล้วต้องใช้สายส่งของ กฟผ. จะอยู่ที่ 25 สตางค์

3) เอกชนซื้อขายกันเองและสายส่งอยู่ที่ฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหรือการไฟฟ้านครหลวง อัตราที่ 55 สตางค์ 4) นโยบายภาครัฐที่สนับสนุน พลังงานหมุนเวียน หรือไฟฟ้าสาธารณะ กำหนดที่ 24 สตางค์ รวมทั้งหมดเท่ากับ 1.15 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ถ้าเราเปิดไฟฟ้าเสรีและให้เป็นเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ค่าวีลลิ่งชาร์ตัวที่ 4 เรื่องนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ก็สามารถดึงออกได้ 24 สตางค์ เพราะเป็นไฟฟ้าสีเขียวอยู่แล้ว ตัวนี้จะคิดก็ต่อเมื่อ ถ้ามาทำไฟฟ้าเสรี แต่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน จึงจะถูกเก็บ 24 สตางค์

สรุปคือ ถ้าเปิดเสรีไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด Ancillary Service ต้องจ่ายทุกกรณี 7 สตางค์ หากโครงการผ่านสายส่ง 3 การไฟฟ้า ก็จะบวก 25 สตางค์ และ 55 สตางค์ รวมเป็น 87 สตางค์ แต่ถ้าไม่ต้องผ่านสายส่ง EGAT ก็เท่ากับ7สตางค์บวก 55 สตางค์ รวมเป็น 62 สตางค์

ผลกระทบหากเปิดเสรีไฟฟ้า

“ผลกระทบจากการเปิดเสรีต่อค่าไฟ เราเชื่อว่าผลน่าจะน้อย เพราะปัจจุบันค่าไฟ 4 บาทกว่า ที่ปรับขึ้นมาแพงตอนนี้เป็นผลจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดราคาผันผวนจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน และแม้ว่าวันนี้ราคาก๊าซ LNG เริ่มลงแล้ว แต่ยังลงไม่มาก เพราะติดที่เดิม EGAT ที่ออกเงินทดลองจ่ายไปก่อน วันนี้จึงต้องทดลองใช้ นั่นหมายความว่า ต้นทุนของเก่ายังมากินเนื้อ ค่าไฟวันนี้อยู่”

หากมาดูต้นทุนค่าไฟ RE จริง จากต้นทุนค่าไฟฟ้าสีเขียว UGT ที่ประกาศออกมา เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ไม่มีแบต อัตรา 2 บาทนิด ๆ ต่อหน่วย แต่ถ้าเป็นโซลาร์บวกแบตเตอรี่ (BESS) อัตรา 2.80 บาท และลม 3.10 บาท เทียบกับค่าไฟ 4.18 บาท สะท้อนว่าต้นทุนค่าไฟ RE ไม่ได้สูงแล้ววันนี้ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ไฟฟ้า RE เสถียรขึ้น ซึ่งต้นทุนจะอยู่ตรงนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการแล้วว่าต้นทุนจะเป็นอย่างไร

“ที่ผ่านมากลุ่มพลังงานหมุนเวียนมักจะถูกมองว่าเป็นจำเลยทำไฟแพง หากดูข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน จะพบว่าต้นทุนพลังงานไฟฟ้ารีนิวไม่ได้แพงขึ้นแบบที่คิด”

“ส่วนความมีเสถียรภาพ ตอนนี้เอกชนคุยกันว่า พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ยังไม่มีความสม่ำเสมอ แสงอาทิตย์สามารถผลิตได้เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง จากทั้งวัน 24 ชั่วโมง แต่ถึงได้แค่ 5 ชั่วโมงก็ยังดี เอกชนพร้อมจะทำระบบแท็กกิ้งว่าสินค้าลอตนี้ผลิตด้วยไฟ RE100 เพื่อให้มีหลักฐานตรวจสอบได้ เพื่อสำแดงกับลูกค้าปลายทางว่าเราผลิตจากไฟสีเขียว 100% ประเด็นคือรัฐจะมีการวางมาตรการนี้อย่างไร”