ส่องแผนลงทุน ‘BAFS’ แตกไลน์สถานีผสม SAF-ปั๊มพอร์ตไฟฟ้า

BAFS
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล
สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งผลดีต่อความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานให้ฟื้นตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาหนุนธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ จากเทรนด์ธุรกิจพลังงานที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานอนาคต ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะเป็นปัจจัยหลักในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) ฉายภาพปี 2567 เป็นปีที่ธุรกิจหลักการให้บริการน้ำมันเครื่องบินฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการเดินทางมากขึ้น คาดว่าปริมาณการให้บริการน้ำมันเพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้ว 4,300 ล้านลิตร ปีนี้จะเห็น 5,000 ล้านลิตรขึ้นไป

สัญญาณบวกไตรมาส 1

BAFS เห็นสัญญาณบวกในไตรมาส 1 ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว เพราะว่ารัฐบาลมีมาตรการที่กระตุ้นการท่องเที่ยว จัดเทศกาลท่องเที่ยวส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการยกเว้นวีซ่าซึ่งมีผลมาก ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยอะ ปริมาณน้ำมันที่เติบโตเป็นผลจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่เราเห็นสวนทางกับรัฐบาลคือ เราเห็นปริมาณเที่ยวบินภายในประเทศลดลง เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี แสดงว่าคนไทยเที่ยวในประเทศน้อยลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากราคาตั๋วโดยสารที่แพง

“เราเคยได้นำเสนอไปแล้วว่า เป็นเพราะภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลสมัยก่อนมีมาตรการช่วยเหลือสายการบิน ลดภาษีสรรพสามิตลงจาก 4.70 บาท เหลือ 20 สตางค์ แต่มาตรการดังกล่าวหมดไปตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้วยังไม่ได้ต่ออายุ ทำให้จะเห็นว่าทำไมตั๋วไปภูเก็ตราคาแพงกว่าไปสิงคโปร์อีก นั่นเพราะสิงคโปร์ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต หากต้องการให้ไทยเป็นฮับการบิน (Aviation Hub) และอยากสนับสนุนสนามบินเมืองรอง ตรงนี้ต้องแก้ไข เพื่อให้สายการบินสามารถสู้ได้ ทั้งนี้ ปกติสายการบินหนึ่งจะมีต้นทุนน้ำมัน 30% ซึ่งภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 4.70 บาท แปลงเป็น 20% ถือว่าสูงมากทำให้แข่งขันลำบาก”

แต่หากมองไปข้างหน้ายังมีมุมมองเชิงบวก ธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติมโตอย่างมาก ตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปีนี้มีเที่ยวบินแซงก่อนโควิดแน่ ปี 2562 เคยมีนักท่องเที่ยวที่โดยสารทางอากาศ 4,500 ล้านคน แต่ปีนี้ทำลายสถิติที่ 4,700 ล้านคน ส่วนจีนฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น จีนเคยมาไทย 100% ไตรมาสแรกยังอยู่ที่ประมาณ 30% แสดงว่าอีกเกือบ 70% ที่เหลือยังไม่กลับมา ต้องแก้เกม

“ทิศทางปีนี้จนถึงปลายทศวรรษ เราเห็นการเติบโตในธุรกิจการบินสูงถึง 10-20% ต่อปี ปัจจัยที่ชัด คือ อัตราการสั่งเครื่องบินของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านทำลายสถิติไปแล้ว อีกปัจจัยหนึ่ง ประชากรโลก 7,000 ล้านคน มีแค่ 11% ที่เคยขึ้นเครื่องบิน เมื่อประชากรโลกมีฐานะดีขึ้นก็จะใช้สายการบินเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยความท้าทายของไทย คือ ทำสนามบินรองรับทันหรือไม่”

Advertisment

“BAFS ให้ความสำคัญกับสนามบินหลักของประเทศที่ให้การดูแลไฟลต์ระหว่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง แต่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเชื่อว่าจะกลายเป็นสนามบินหลักของประเทศไทยในวันหนึ่ง ส่วนสนามบินอื่น ๆ ที่รัฐวางแผนพัฒนา อาทิ สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นของเราต้องมาพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะขยายการลงทุน”

กางแผนลงทุน 1.7 พันล้าน

BAFS เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยปีนี้ขออนุมัติวงเงินลงทุนที่ 1,500-1,700 ล้านบาท หลัก ๆ เป็นการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค การเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมัน สระบุรี-อ่างทอง ประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนอีก 600-700 ล้านบาท เป็นการเตรียมเงินลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น ในมองโกเลีย ลงทุนเฟสแรก 690-700 ล้านบาท

ผนึก EA ลงทุนสถานีผสม SAF

ขณะที่เทรนด์น้ำมันอากาศยานยั่งยืน SAF (SAF-Sustainable Aviation Fuel) กำลังมา เราเริ่มต้นที่ประมาณตามสิงคโปร์ประกาศว่า สายการบินที่ขึ้นลงในสิงคโปร์ภายในปี 2026 จะต้องเติม SAF 2% คิดเป็น 160 ล้านลิตร ส่วนของไทยยังต้องรอกระทรวงพลังงานมีนโยบายว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ แต่สมมุติว่าตัวเลขเดียวกับสิงคโปร์ก็ประมาณ 120-200 ล้านลิตร ซึ่งกุญแจสำคัญคือสถานีผสม และการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งตรงนี้ถ้าทำได้ น้ำมันที่ได้จากการตรวจสอบสามารถใส่ในท่อและถังเดิมได้เลย

กลุ่ม BAFS พร้อมลงทุนร่วมกับพันธมิตร เป็นจิ๊กซอว์ในส่วนที่พูดว่า มาบตาพุดมีพื้นที่ที่สามารถใช้ทำประโยชน์ได้เพื่อลงทุนสถานีผสมและตรวจสอบน้ำมัน ตอนนี้เลือกโลเกชั่นเบื้องต้นแล้วที่มาบตาพุดเป็นฐานสามารถส่งน้ำมันจ่ายท่อเข้าสนามบินอู่ตะเภา และสนามบินสุวรรณภูมิได้เลย จากระบบเดิมและยังสามารถส่งออกน้ำมันที่ผสมแล้วไปยังต่างประเทศได้ด้วย

Advertisment

“เรามีการพูดคุยกับพันธมิตรว่ามีใครสนใจบ้าง กลุ่มหนึ่งที่สนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ซึ่งมองว่าสอดคล้องกับทิศทางของเขา” โดยอาจจะตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ร่วมกับ BAFS ซึ่งหากรวมกับกลุ่ม EA อาจจะมองไกลไปถึงการผลิตและ
สกัดจากพืชพลังงานเอามาผลิตเป็นน้ำมันอากาศยานยั่งยืน

สำหรับโครงการนี้จะแบ่งการลงทุนเป็นเฟส อย่างน้อยก็จะลดการนำเข้า วางไว้น่าจะสามารถครอบคลุม 1-2% ส่วนงบฯลงทุนขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยผสมนี้จะเป็น Open Access คือเปิดรับไม่ว่าคุณจะผลิตจากที่ไหน จะเป็น SAF จากบางจาก มิตรผล หรือผลิตเอง คุณมาใช้บริการที่นี่ได้ เพราะนี่คือจุดแข็งของ BAFS

“ประเทศไทยเป็นสมาชิก ICAO ซึ่งกำหนดกรอบว่าจะเริ่มมาตรการบังคับในปี 2027 แปลว่าเรามีเวลาอีก 2 ปี ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยยอมรับและปฏิบัติตามพันธะ CORSIA ได้ จึงจำเป็นต้องลงทุนภายในปีหน้า”

ส่องพอร์ตยูทิลิตี้-เทคโนโลยี

ส่วนกลุ่มสาธารณูปโภค หรือการขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งปีที่แล้วตอนต้นปีเราตั้งเป้าการขนส่งน้ำมันขึ้นภาคเหนือ ประมาณ 400 ล้านลิตร ปรากฏว่าสิ้นปีทำได้ 843 ล้านลิตร เกินเป้าไปเป็นเท่าตัว เพราะเราทำการตลาดเชิงรุกร่วมกับกลุ่มบางจาก ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ บรรลุข้อตกลงกับบริษัท Thappline กลุ่ม ปตท.เพื่อเชื่อมโยงท่อจากคลังน้ำมันสระบุรี เชื่อมกับท่อส่งน้ำมันที่่อ่างทอง ระยะทาง 52 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567 เสร็จในปี 2569 ข้อดีคือทำให้รับน้ำมันจากภาคตะวันออกขนขึ้นภาคเหนือ จากประมาณ 900-1,000 ล้านลิตรต่อปี ก้าวกระโดดในทันที ปีแรก 1,500 ล้านลิตร ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดขนส่งในทางภาคเหนืออย่างน้อย 60% และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสม 7-8 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์

“ในระยะยาวแม้คนจะมองว่ารถไฟฟ้าปริมาณมากขึ้น แต่เชื้อเพลิงของเหลวยังอยู่แน่ เพราะถ้าจะเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าทั้งหมดก็แบกภาระไม่ไหว หรือจะเป็นไฮโดรเจนก็ต้องลงทุนสถานีเติมไฮโดรเจนทั่วประเทศ แพงอีก”

ปั๊มพอร์ตไฟฟ้า

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า ปีนี้กำลังการผลิต 53 เมกะวัตต์ โดย 40 เมกะวัตต์อยู่ในไทย อีก 13 เมกะวัตต์อยู่ในญี่ปุ่น แผนในปีนี้กำลังติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปที่ขายสัญญาแบบเอกชนกับเอกชน (PPA) อยู่ประมาณเกือบ 3 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการติดตั้งให้กับ Global Consumer เป็นโรงงานแปรรูปอาหาร 4 โรง 2.7 เมกะวัตต์ น่าจะทันภายในไตรมาส 2 หรืออย่างช้าไตรมาส 3 อีกโครงการเป็นโซลาร์รูฟท็อปให้ BAFS Pipeline Transportation (BPT) โครงการจัดเก็บน้ำมันในสุวรรณภูมิ ประมาณ 1 เมกะวัตต์

และกำลังเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยบริษัท BAFS Clean Energy ที่เลือกสุราษฎร์ เพราะมีปริมาณขยะต่อวันเพียงพอและยังรับขยะจากเกาะสมุยและเกาะพะงัน เดิมมีปริมาณขยะ 5-6 แสนตัน

“การขยายโรงไฟฟ้าขยะไปที่อื่นต้องใช้ความรอบคอบในการศึกษาเรื่องปริมาณขยะและใบอนุญาต สิ่งหนึ่งที่เป็นโจทย์สำหรับ BAFS Group เรายังจะมั่นใจจริง ๆ ว่าเทคโนโลยีที่เลือกเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเราต้องดูแลชุมชนรอบ ๆ ตามนโยบายของ BAFS เราไม่ได้เกี่ยวกับผลตอบแทนทางการเงินอย่างเดียว จึงยากที่จะเลือกว่าโครงการไหนจะเป็นโครงการต่อไป”

สำหรับการยกร่างแผน PDP ใหม่ ยังมองเป็นบวก เพราะประเทศไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกฎกติการะหว่างประเทศชัดมากในเรื่องต้องการสินค้าจากพลังงานสะอาด

ทุ่มลงทุน BESS ในมองโกเลีย

แผนการลงทุนในต่างประเทศ ตอนนี้กำลงเจรจากับพันธมิตรดำเนินโครงการระบบโรงไฟฟ้าสำรองไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) วางงบฯลงทุน 690-700 ล้านบาท

“มองโกเลียมีกฎหมายอนุญาตให้ตั้งโรงงานแบตเตอรี่โดยไม่ต้องมีหน่วยผลิตไฟ เพื่อเอาแบตเตอรี่ตั้งและชาร์จไฟในช่วงออฟพีกจากการไฟฟ้าเขามาเก็บเอาไว้และขายไฟในช่วงพีกซึ่งจะมีส่วนต่าง เวลาขายช่วงพีก 15 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย แต่ค่าไฟที่เอาเข้ามาชาร์จในแบตเตอรี่ออฟพีกไม่ถึง 3 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย เพราะเขาต้องการดึงดูดการลงทุน โมเดลนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แต่เป็นโมเดลน่าสนใจจึงได้ทดลองลงทุนเพื่อศึกษา”

บริหารจัดการ-ลดความเสี่ยง

“บริษัทกระจายความเสี่ยง โซลาร์เป็นไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ความเสี่ยงต่ำสุด บริหารงานง่ายจะเป็นสัดส่วนใหญ่ในพอร์ต และเป็นเหตุผลที่เราเลือกลงทุนในต่างประเทศโดยเอาโซลาร์เป็นตัวนำก่อน ส่วนในไทยที่ผ่านมาก็มีการเปิดประมูลไป แต่เงื่อนไขเยอะ เราเลยหันไปทำเรื่องโซลาร์รูฟท็อปที่เป็น Private PPA เป็นหลัก”

ในอนาคตบริษัทมุ่งสร้างความสมดุลของโครงสร้างรายได้ โดยไม่พึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากจนเกินไป ซึ่งพอร์ตธุรกิจ
การบินมีสัดส่วน 50% ส่วนอีก 40% มาจากกลุ่มสาธารณูปโภค ไฟฟ้า และอีก 10% มาจากกลุ่มธุรกิจงานบริการ เช่น ดิจิทัลโซลูชั่น 
หรือ Outsourcing Service ที่มีอยู่