ร.ฟ.ท.จุดเปลี่ยนรถไฟไฮสปีด เล็งสละ BOI ใช้สิทธิ EEC

hi speed train

เดินหน้าอีกครั้ง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ชนะประมูล มูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท และได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2562

ล่าสุดถึงจุดเปลี่ยนโครงการอีกครั้ง เมื่อ บริษัท เอเชีย เอรา วัน อาจจะเปลี่ยนการใช้สิทธิประโยชน์ จากบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นการใช้สิทธิในการลงทุนในพื้นที่ EEC ภายใต้การแก้ไขสัญญาร่วมทุนกับ ร.ฟ.ท.

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. เป็น 1 ในโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่ต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC แต่ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขสัญญามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง

แก้สัญญาครั้งแรก

ครั้งแรกในปี 2563 ในระหว่างที่โครงการกำลังเดินหน้าเคลียร์พื้นที่ ทั้งการส่งมอบ การรื้อถอนท่อก๊าซ สายส่ง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จำเป็นต้องหยุดชะงักชั่วคราว ด้วยการขอขยายกรอบเวลาการทำงานออกไป เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ผู้โดยสารในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ลดลง ซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งในส่วนที่บริษัทได้สิทธิในการบริการ

เมื่อบริษัทไม่สามารถชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนจำนวน 10,671.09 ล้านบาท ตามสัญญาร่วมลงทุนได้ตามวันที่กำหนด คือ 24 ตุลาคม 2564 ได้ เอเชีย เอรา วัน จึงขอเจรจากับ ร.ฟ.ท. ในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานบางอย่างที่อยู่ในสัญญาเพราะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และขอเวลาในการฟื้นผู้โดยสารจนกว่าจะมีรายได้กลับเข้ามาปกติ เพื่อที่จะกลับมาชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนตามเดิมหลังจากโควิด-19 สิ้นสุด

Advertisment

แก้สัญญากับ ร.ฟ.ท.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด ร.ฟ.ท.) เห็นชอบที่จะแก้ไขสัญญาให้ เอเชีย เอรา วัน ภายใต้สาระสำคัญ ดังนี้

1.ให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) โดย ร.ฟ.ท.ได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด งวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย

2.เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 119,425 ล้านบาท โดยให้รัฐจ่ายก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) หรือสร้างไป จ่ายไป จากเดิมภาครัฐต้องจ่ายหลังเอกชนก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ

3.ให้ เอเชีย เอรา วัน วางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน (Bank Guarantee) เพิ่มเติม 2 ส่วน คือ ในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท และส่วนของงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท เพื่อให้ภาครัฐมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะสามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ

Advertisment

ทิ้งส่งเสริม BOI ใช้สิทธิ EEC

นอกจากนี้ ในสัญญาก่อนที่จะออก NTP ยังกำหนดให้ เอเชีย เอรา วัน ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากบอร์ดบีโอไอเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดยมีเงื่อนไขว่า เอเชีย เอรา วัน จะต้องยื่นเอกสารเพื่อขอออกบัตรส่งเสริมก่อนจะหมดอายุ (22 มกราคม 2567)

แม้บีโอไอได้พยายามติดตามและเร่งรัดให้บริษัทดำเนินการตอบรับมติการส่งเสริม เพื่อขอออกบัตรส่งเสริมตามเวลาที่กำหนดแต่ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ทำเรื่องขอขยายเวลาแล้วจนครบ 3 ครั้ง (สิ้นสุด 23 พฤษภาคม 2567)

แหล่งข่าวในบอร์ด EEC ระบุว่า “เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับหลาย ๆ ส่วน บอร์ด ร.ฟ.ท.จึงตัดเงื่อนไขส่วนนี้ออก เพื่อที่จะออก NTP ให้เอเชีย เอรา วัน”

ขั้นตอนต่อไป จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสัญญา และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เพื่อเห็นชอบในหลักการ และส่งอัยการสูงสุดในการแก้ไขสัญญา คาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 เพื่อที่ ร.ฟ.ท.จะได้ออกหนังสือ NTP และเอเชีย เอรา วัน เริ่มงานก่อสร้างในปีนี้ 
เปิดให้บริการ 2572

จุดเปลี่ยนรถไฟไฮสปีด

โดยการเปลี่ยนจากใช้สิทธิประโยชน์จาก BOI จะทำให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า ซึ่งสิทธิประโยชน์จาก EEC พิเศษสุดคือการเจรจาเฉพาะราย ประกอบด้วย 1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สําหรับกําไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการระยะเวลา 1-15 ปี มากกว่าสิทธิประโยชน์บีโอไอ ที่ให้สูงสุด 13 ปี

2.ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 1-10 ปี 3.สามารถนําผลขาดทุนประจําปีที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปหักออกจากกําไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีกําหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี 4.ผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับทั้งการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี อาจได้สิทธิในการนําเงินที่ใช้ไปในการลงทุน หักออกจากกําไรสุทธิรวมทั้งสิ้นจํานวน 1-70% ของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น

5.สามารถหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาได้ 2 เท่า 6.สามารถนําเงินลงทุน 1-25% ของเงินที่ลงทุนแล้ว มาหักจากกําไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ภายใน 10 ปี 7.ยกเว้นไม่ต้องนําเงินปันผลจากกิจการซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ 8.ยกเว้นการนําค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มีกําหนดระยะเวลา 5 ปี ?

9.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับเครื่องจักร 10.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับของที่ผู้ประกอบกิจการนําเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา 11.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับวัตถุดิบและวัสดุ เพื่อประกอบผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล เฉพาะที่ใช้ในการส่งออก 12.ลดหย่อนอากรขาเข้า สําหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจําเป็นในอัตราไม่เกิน 90% 13.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป 14.ยกเว้นอากรขาออกสําหรับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี คือ 1.สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต 2.สิทธิถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อประกอบกิจการหรืออยู่อาศัย

3.สิทธิในการนําคนต่างด้าวที่เป็น ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชํานาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว เข้ามาและอยู่อาศัย ในราชอาณาจักรได้ตามจํานวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ 4.คนต่างด้าวที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และผู้ชํานาญการ ที่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นําเข้ามาสามารถทํางานได้ภายใต้ EEC Work Permit