“สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์” ตลาดข้าวเอเชียคึกคัก-สต๊อกข้าวเก่าหมด

การส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของไทยร้อนแรงไม่น้อย โดยไทยสามารถกวาดยอดส่งออก 4.1 ล้านตัน ครองแท่นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก หนีคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนามซึ่งรั้งตำแหน่งเบอร์ 2 และเบอร์ 3 พอสมควร “สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์” ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวไทยที่มีศักยภาพสามารถครองแชมป์เบอร์ 1 ผู้ส่งออกข้าวมาอย่างยาวนาน เปิดโอกาสให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางการส่งออกข้าว และจุดเปลี่ยนของธุรกิจค้าข้าวไทยในปีนี้ว่า 

Q : ทิศทางการส่งออกข้าวไทยปีนี้

ถ้าถามในเชิงราคาก็ปรับฐานขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 400 กว่าเหรียญสหรัฐ ก็คงไม่เลวร้ายไปกว่านี้ ปีนี้เราโชคดีที่ในโซนเอเชียขาดของ ผลผลิตลดน้อยลงทั้งในอินโดนีเซีย อินโดนีเซียก็จะมาเป็นผู้ซื้อหลัก และฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซียตลาดเดิมของเรา จะได้ขึ้น เพราะเวียดนามหนีไปทำข้าวคุณภาพสูง ไม่มาแข่งราคาประมูลกับเราเมื่อปีกว่า ๆ มาแล้ว ทำให้ตลาดข้าวกลาง ๆ ลดลงหันมาที่เราไม่ฟาดฟันกัน ซึ่งจะทำให้ข้าวคุณภาพกลางไม่ถูกแน่นอน ราคา 400 กว่าเหรียญสหรัฐ คิดเป็นข้าวเปลือกตันละ 8,000-9,000 บาท เป็นผลดีกับเกษตรกร

แต่วันนี้ไทยเริ่มรู้และปรับตัวทันแล้ว กรมการข้าวพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่เชิญผู้ส่งออกไปหารือ ว่าตลาดต้องการอะไร และทยอยเปิดตัวใหม่ ๆ ออกมา น่าจะเป็นรูปธรรมในปีหน้า ไทยจะทำข้าวคุณภาพ เพิ่มมูลค่าตอบโจทย์กับตลาด ถ้าไทยทำข้าวขึ้นไปสัก 400-500 เหรียญสหรัฐ ชาวนาจะขายได้ 10,000 บาทต้น ๆ ก็เป็นประโยชน์กับเกษตรกร

Q : วิเคราะห์ตลาดส่งออกอย่างไร 

วันนี้ตลาดแอฟริกาไม่ดี ไม่มีเม็ดเงินซื้อข้าว ส่วนหนึ่งไนจีเรียก็พยายามปิดกั้นไม่ให้นำเข้า ส่งผลกระทบต่อข้าวนึ่งซึ่งเป็นตัวชูโรง เนื่องจากไนจีเรียยังมีการปิดกั้นไม่ให้นำเข้าเลย เพราะพยายามกดดันภายในให้ปลูกให้ได้ ถามว่ามีตลาดไหมก็ยังมีการส่งออกผ่านทางเบนิน ไปทางชายแดน แต่ตอนนี้เบนินก็จะเก็บภาษี ราคาข้าวนึ่งไม่ดีชะลอไปประมาณตั้งแต่ต้นปีมา

หากจะส่งไปก็ต้องส่งผ่านเป็นภาระของผู้นำเข้าข้าวอีก จะเห็นว่าข้าวนึ่งจะชะลอไป แต่ความโชคดีมีตลาดเอเชียทดแทนไม่เช่นนั้นคงจะเหนื่อยกว่านี้

ตลาดเอเชียดีเพราะอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากภัยแล้งค่อนข้างขาดข้าว แม้ว่าจะซื้อไปพอประมาณแล้วแต่ก็จะซื้ออีกหลังจากนี้ ส่วนตลาดบังกลาเทศน่าจะมีการซื้ออีกแต่จะเข้ามาในช่วงหลังจากไตรมาส 2
ไปแล้ว แต่คงไม่ได้ซื้อปริมาณมากอย่างก่อนหน้านี้ ตลาดจีนเราขายคอฟโก้ได้เกือบหมดแล้ว แต่วันนี้ผลผลิตภายในจีนราคาลงที่จีนซื้อเราด้วยมิตรภาพจำเป็นต้องช่วยซื้อส่วนที่ยังเหลือที่ต้องซื้ออีก 1 ล้านตันคงไม่ใช่ช่วงนี้

ฝั่งตลาดอิรักยังไม่กลับมาซื้อไทย แม้ว่าจะมีการประมูลซื้อข้าวจากสหรัฐไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เราเสนอประมูลไปตันละ 400 กว่าเหรียญสหรัฐ แต่เขายังหันไปซื้อข้าวจากสหรัฐตันละ 500 กว่าเหรียญสหรัฐฯ เพราะความกังวลเรื่องเดิม ๆ (ปัญหาคุณภาพการส่งออกข้าวของผู้ส่งออกรายหนึ่ง) ส่วนตลาดอิหร่านน่าจะกลับมาเร็ว ๆ นี้

แต่คงไม่ได้ซื้อตื่นเต้นเหมือนปีที่แล้ว และจะมีประเด็นอีกว่าสหรัฐจะกลับมาเริ่มแซงก์ชั่น (คว่ำบาตร) อิหร่านอีกรอบ ก็ต้องมาไฟต์เรื่องการชำระเงินอีก แต่เราต้องระวัง

Q : การบริหารจัดการข้าวหลังระบายสต๊อกข้าวหมด

ผมเชื่อว่าจะบริหารจัดการให้จบ 2 ล้านตันสุดท้าย ถ้าสต๊อกหมดกลไกตลาดสามารถดูแลตัวเองได้ ปัญหาใหญ่หมด การซื้อขายกลับสู่ปกติ เชื่อว่าจากนี้ไปจะไม่หนักแรงรัฐบาล เพียงแต่ต้นฤดู

รัฐบาลควรออกมาตรการดูแลราคาตั้งแต่ต้นฤดู เพราะหากทำช้าราคาขึ้นในช่วงเลยต้นฤดูไปแล้ว เป็นช่วงกลางฤดูอย่างที่ผ่านมา คนที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจะไม่ใช่ชาวนา เหมือนถ้าหากน้ำเยอะกักน้ำไว้ อย่างปีที่ผ่านมาถือว่าออกมาตรการเร็วให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มารับยุ้งฉางก็พอได้ แต่ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ปีนี้รัฐบาลต้องเป็นตัวช่วยซื้อช้อนข้าวออกจากระบบ ถ้าหากไม่ซื้อเองจะใช้กลไกของ ธ.ก.ส.เหมือนเดิมก็ได้แต่ต้องทำให้เข้มข้นขึ้น ต้องดึงดีมานด์ ออกจากตลาด ผมเข้าใจว่าปีนี้จะทำยุ้งฉางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลไม่จำเป็นต้องสนับสนุนให้มียุ้งฉาง

ทั่วประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ควรสนับสนุนให้มีการอบลดความชื้น เพราะถ้าหากมียุ้งฉางแล้วข้าวมีความชื้นก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

Q : หากรัฐบาลหันกลับมาพัฒนาไซโล

ผมก็พูดมาตลอดแต่รัฐบาลเกรงว่าทำแล้วจะมีการโกงกัน แต่ในทางปฏิบัติสามารถตั้งและบริหารจัดการโดยเอกชนได้ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ รัฐบาลไปคัดเลือกโรงสีที่มีศักยภาพประวัติดีมาทำหน้าที่เก็บแทนรัฐบาล โรงสีต้องรับผิดชอบห้ามเสียให้เขารับประกันด้วย พอถึงเวลาก็ประมูลคืนโรงสี ซึ่งทางโรงสีก็ได้ประโยชน์ด้วย

Q : ส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก 

4 เดือนแรกเราส่งออกได้ 4 แสนตันแล้ว คาดว่าภาพรวมปีนี้บริษัทเอเซียฯจะส่งออกได้ถึง 1.5 ล้านตัน จากภาพรวมการส่งออกของประเทศที่คาดการณ์ไว้ 10 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2560 ที่ส่งออกได้ 11 ล้านตันกว่า

Q : การแข่งขันกับโรงสีที่ขยับมาส่งออก 

ก็เหนื่อยต้องฟาดฟันกันเป็นเรื่องธรรมดา มีรายเล็กรายน้อยมากขึ้น แต่เราก็ดูตัวเราทำไมเขาโตขึ้นมาได้ วันนี้ผมอาจจะไม่พร้อมเสี่ยงไปขายถูก ๆ เขาอาจอยากเสี่ยงหรือพร้อมเสี่ยงมากกว่าผม

ถ้าเสี่ยงผ่านเค้าอาจจะรอด มุมมองมันอาจจะแตกต่าง เช่นถ้าผมอยากจะชนะไปลุยอย่างเดียวก็ต้องสู้เรื่องราคาและเครดิต ซึ่งสมัยนี้เปลี่ยนไปหมดแล้วเราจะไปลุยทำไม วันนี้ทำอย่างไรให้ได้ตังค์ ทำอย่างไรไม่เสียหายดีกว่า ตัวเลขเราก็ต้องยอมลง ตอนนี้ถ้าเราจะไปรับออร์เดอร์มาเสี่ยงก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาคนเราก็อยากเดินขึ้นที่สูง แต่ผมมองตัวเองมากกว่า ถ้าวันหนึ่งอาจจะไปอยู่ระดับเล็กลงหรือกลางลงก็ไม่มีปัญหา ตอนนี้

ผมพยายามศึกษาว่าผู้ส่งออกที่อยู่ในธุรกิจข้าวมายาวนานเขามีวิธีการรักษาอย่างไร ตอนนี้ผมทำแค่ไม่กี่แสนตันก็สามารถอยู่เลี้ยงลูกน้องได้แล้ว

Q : เหมือนปีนี้ตั้งการ์ดมวยสูงมาก

ใช่ เรามาเน้นขายอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แลจีน

Q : ธุรกิจข้าวในกัมพูชา

เราพยายามรักษาฐานการส่งออกในกัมพูชาให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา กำลังปรับธุรกิจท่าเรือจากที่ให้บริการการขนถ่าย กำลังจับมือกับพาร์ตเนอร์กลุ่มที่ทำท่าเรือที่แหลมฉบัง ซึ่งโดยปกติกลุ่มนี้ขนถ่ายสินค้า 500-600 ตู้ต่อเดือน ให้ขนของจากกัมพูชากลับมาที่แหลมฉบัง ตอนนี้เราเอ็มโอยูไปแล้วว่าจะเอาสินค้าไทยไปผ่านท่า ซึ่งมีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด พยายามมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจบริการให้มากขึ้น ส่วนธุรกิจในไทยก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นได้ในการปรับธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจบริการขนถ่ายสินค้ามากขึ้น เพราะเอเซียฯมีความพร้อมทั้งที่ดินในแถบ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 2-3 แปลง คงทราบความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

Q : วางอนาคตอย่างไร

เราต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวของเราด้วย ซึ่งผมกำลังขออนุญาตตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าว โดยนำพันธุ์ข้าวเข้ามาพัฒนาอย่างเป็นทางการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กว่าขั้นตอนตรงนี้จะแล้วเสร็จมันใช้เวลาหลายปี ก่อนหน้านี้เอกชนบางรายได้เคยทำ