โมเดลลงทุนใหม่ผนึก3ประเทศ “จีน ญี่ปุ่น ไทย” นำร่อง EEC 4 มิ.ย.ประชุมใหญ่เตรียมแผนโครงสร้างอู่ตะเภาเสนอ “บิ๊กตู่”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนา “China-Japan Cooperation on the Eastern Economic Corridor of Thailand” ว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงโตเกียวที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีนญี่ปุ่นในประเทศที่ 3 โดยมุ่งเป้ามายังไทยโดยเฉพาะพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้นจึงมีการจัดสัมมนาจัดขึ้นโดย สำนักงานอีอีซี ร่วมกับสถานเอกอัครราชฑูตจีนและญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อหารือเบื้องต้นทั้งจีนและญี่ปุ่นหลังจากที่แสดงความสนใจด้านอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา

ทั้งนี้ทางสำนักงานอีอีซีและกระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานต่อเนื่องเพื่อให้เกิดแผนงานที่เป็นรูปธรรมในความร่วมมือ โดยอุตสาหกรรมที่จีนและญี่ปุ่นสนใจคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ทางจีนมองว่าไทยมีโอกาสที่ดีโดยเฉพาะหลัง พ.ร.บ. EEC บังคับใช้ ขณะที่ญี่ปุ่นมองเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เริ่มต้นให้เห็นแล้ว

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานอีอีซี จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อจัดทำแผนโรดโชว์ในการชักชวนนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสหภาพยุโรป ให้เข้ามาลงทุนใน EEC โดยทางเกาหลีเชิญกระทรวงอุตสาหกรรมนำคณะไปเยือน เพื่อแสวงความร่วมมือในการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศเร็ว ๆ นี้ คาดว่า ในช่วง 5 ปีนับจากนี้การลงทุนในพื้นที่ EEC จะมีการลงทุนรวมสูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.5 ล้านล้านบาท)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ทางจีนได้เสนอความร่วมมือ 3 ข้อได้แก่ 1. การทำแผนงานความร่วมมือการลงทุน 3 ประเทศร่วมกันภายใต้กฎหมายสากล 2. รัฐบาล 3 ประเทศจะช่วยเหลือนักลงทุนอย่างไร 3. พิจารณาโครงการที่จะเป็นความร่วมมือ ดังนั้นจึงสรุปที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยคาดว่ากรอบการดำเนินงานต่างๆ จะเสร็จใน 2 เดือนซึ่งการจับมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นครั้งนี้ ถือเป็นรูปแบบการลงทุนใหม่ ที่จะมากัน 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น ไทย เพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการทก่อสร้างใน EEC เช่น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ส่วนการเปิดประมูลโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐยืนยันว่าจะยังคงอยู่ในรูปแบบของการเปิดประมูลแบบ international Bidding ในรูปแบบกรอบแผนงานโครงการร่วม ลงทุนกับเอกชน (PPP)

“รูปแบบการลงทุนแบบจับมือกัน 3 ประเทศ อย่างจีนหนุนญี่ปุ่นหรือจับมือกับเป็นคู่ จะเอกชนกับเอกชน หรือรัฐและรัฐ หรือรัฐเอกชนก็ได้ เมื่อมาลงทุนไทยก็เข้ากฎหมายลงทุนไทยที่ต่างชาติถือหุ้น 49% ไทย 51% เช่นเดิม นี่จึงเป็นการลงทุนที่เรียกว่าใช้ EEC เป็นตัวนำร่องโครงการแรก”

นายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า จีนมองว่า EEC เป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และไทยจะลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มากขึ้นและจะเป็นการเชื่อมต่อไปยัง One Belt One Road ของจีนซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาค

นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่นักลงทุนญี่ปุ่น 600 คนมาลงพื้นที่อีอีซีก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนในไทยโดยเฉพาะอีอีซีและจะเป็นพื้นที่การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ของ 3 ประเทศ ซึ่งการที่ไทยออกเอกสาร TOR รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและนี่จะมีส่วนสำคัญทำให้การลงทุนมายังไทยมากขึ้น