7 ยักษ์จับมือลุย BigBrother พี่ช่วยน้องใช้กองทุนนางฟ้าอุ้ม SMEs

7 บริษัทยักษ์ใหญ่ตบเท้าร่วมโครงการ Big Brother ก.อุตฯ จับมือ ส.อ.ท.ตั้งกรรมการ-คณะทำงานลุยแผนปฏิบัติ ตั้งเป้าปีนี้ให้เห็นผล

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา 5 ชุด เพื่อให้แผนงานระหว่างรัฐและเอกชนเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม สามารถวิเคราะห์อุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ รู้สถานะ ยกระดับผู้ประกอบการได้ตรงเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้สามารถลงสู่ภาคปฏิบัติได้จริง โดยใช้กลไกของโครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) มาเร่งดำเนินการให้ขับเคลื่อนรายเล็กระดับชุมชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เร็วที่สุด

โดยภายในปีนี้ Big Brother ทั้ง 7 บริษัท ประกอบด้วย ปตท., SCG, เด็นโซ่, เดลต้า อีเลคโทรนิคส์, นิสสัน, ฮอนด้า และโตโยต้า จะเข้ามาทำหน้าที่ 4 งานหลักคือ 1.ที่ปรึกษา เพื่อเชื่อมโยง การเพิ่มมูลค่าในตลาดโลก 2.การเตรียมตัว โดยใช้แนวคิดการทำธุรกิจแบบสากล 3.ทีมสนับสนุนด้านฝึกอบรม ด้านเทคโนโลยี 4.สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ในรูปแบบกองทุนนางฟ้า (angel fund) ที่ให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบเงินให้เปล่าจำนวน 4 ล้านบาท สูงสุดรายละไม่เกิน 500,000 บาท หรือตามขนาดของการจัดตั้งธุรกิจที่เหมาะสม

สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะประกอบด้วยคณะทำงาน 5 ชุด คือ 1.คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (Industry 4.0 และ S-curve) เพื่อเข้ามาบูรณาการความร่วมมือเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยระบบอัตโนมัติและดิจิทัล, พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ผลักดัน 4 อุตสาหกรรมนำร่องทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นไบโอชีวภาพที่อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม., อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ให้เกิด de-mand/supply/โครงสร้างพื้นฐาน/มาตรฐาน/แบตเตอรี่ ผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยการตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) และหารือการยกเว้นอากรขาเข้า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร คาดว่าจะนำเสนอ ครม.ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2561

“ตั้งคณะทำงานร่วมกันจะทำให้เห็นทุกอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเราจะรู้ว่าเอกชนต้องการอะไร รัฐสนับสนุนอะไรได้บ้าง ธงคือการให้เอกชนที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.มาเป็น Big Brother ซึ่งในเฟสแรก 7 ราย เฟส 2 อีก 6 ราย และเฟส 3 อีก 7 ราย รวมทั้งหมด 20 บริษัทที่ทั้งหมดจะต้องทยอยเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ให้ได้ หน้าที่หลักคือช่วยพัฒนา SMEs ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้กลไกของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่จะช่วยสอน แนะนำการทำตลาด แพ็กเกจจิ้ง สามารถเข้ามาใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาสินค้า ช่วยงานด้านวิจัยต่าง ๆ ซึ่งทั้งสภาหอการค้า ส.อ.ท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเข้ามาช่วย”

2.คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.S) ผลักดัน SMEs สู่ global value chain ผ่าน digital platform B2B ใช้กองทุนพัฒนา SME และมาตรการสนับสนุนทางการเงิน 3.คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืน เพื่อเข้ามาจัดระดับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างการจัดการกากเสีย การพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนด้วยเทคโนโลยี กำหนดคำจำกัดความ “ผลิตภัณฑ์พลอยได้” และตั้งสมาคมหรือเครือข่ายผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายเพื่อกำหนดเกณฑ์ยกระดับเงื่อนไข จัดกลุ่มโรงงานให้มีความชัดเจน กำหนดประเภทกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย 27 ชนิด ยกเว้นการขออนุญาต (สก.2) ทั้งนี้ยังต้องการให้ ส.อ.ท. ช่วยติดตามการรายงานข้อมูลตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมให้ครบถ้วน โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผล การรายงานข้อมูลตามกฎหมาย สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวง

4.คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ให้เข้ามาจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ 15 จังหวัด 18 พื้นที่ (รวมพื้นที่บางปูโมเดล จ.สมุทรปราการ) ความร่วมมืออุตสาหกรรมจังหวัด+ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด, การพัฒนาเมืองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ecoroadmap) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 5.คณะทำงานเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

“ภาครัฐและผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจทั้งในปัจจุบัน/อนาคต ผู้ประกอบการทราบถึงระดับพัฒนาการของกิจการเพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพตนเองเบื้องต้น กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถกำหนดแนวทางและยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการได้ตรงตามเป้าหมาย และการแจ้งข้อมูลรายเดือน (ร.ง. 8) ออนไลน์ รวมถึงระบบการประเมินสถานะเพื่อพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป้าหมายที่ตั้งคณะทำงานนี้ขึ้นมาเพื่อฟื้นแผนนโยบายและปฏิบัติที่เคยร่วมกันทำกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยการเอาเรื่องของโครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) ซึ่งทางเอกชนต้องการให้ภาครัฐบอกความต้องการมาว่า แต่ละจังหวัดต้องการให้สนับสนุนเรื่องอะไร อุตสาหกรรมอะไรเป็นพิเศษ จากนั้นทางเอกชนจะให้บริษัทเอกชนในพื้นที่ที่เก่งและชำนาญในเรื่องของอุตสาหกรรมเหล่านั้นดึงขึ้นมาเป็น Big Brother และภายในปลายเดือนนี้ คณะทำงานทั้งหมดจะประชุมครั้งที่ 2 เพื่อให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม รายงานผลการหารืออุปสรรค และแนวทางพัฒนาของแต่ละกลุ่ม เพื่อสู่การปฏิบัติจริงทันที

“เรื่องที่อยากให้เอกชนช่วย SMEs รายเล็ก ๆ ในชุมชนแต่ละภาค เราต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งรายชื่อชุมชนเป้าหมายมา และความต้องการความช่วยเหลือแต่ละพื้นที่ จากนั้นเราก็จะได้รู้ว่าจังหวัดไหนต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอะไร และให้เอกชนในพื้นที่ที่เก่งอุตสาหกรรมนั้น ๆ ลงไปช่วย แบบนี้มันจึงจะตรงจุดและช่วยได้จริง”