“ชิโนเคมฯ”เล็งฟื้นสัญญายาง

“ชิโนเคมฯ” ส่งสัญญาณฟื้นสัญญาโครงการซื้อขายยางร่วมมือรถไฟไทย-จีน กฤษฎาเผยโรดโชว์ยางใต้ได้คู่ค้ารายใหม่ 3 แสนตัน

นายหยาง หยู่ (Mr.YANG YU) ผู้จัดการ บริษัท ซิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือชิโนเคมกรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าร่วมงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย (business matching) ที่จังหวัดกระบี่ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือการซื้อขายยางร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้งการรับซื้อยางใหม่และยางเก่าซึ่งยัง

ไม่ได้ข้อสรุป และอยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องปริมาณที่จะซื้อขายระหว่างกัน

“ยอมรับว่าโครงการซื้อยางชิโนเคมฯ 200,000 ตัน ล่มก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องการซื้อขายยางซึ่งผูกกับโครงการร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน แต่การมาครั้งนี้จะสานต่อโครงการเดิมรวมกับโครงการใหม่ คาดว่าถ้าประสบความสำเร็จ จะส่งผลดีต่อราคายางพาราเพิ่มมากขึ้น”

ส่วนเรื่องสงครามการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา ทางบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐ โดยตรง แต่ทางสหรัฐ จะซื้อจากน้ำยางสดจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทที่ชิโนเคมฯมีหุ้นส่วนอยู่ เพื่อใช้ในประเทศ ส่วนในปี 2560 ที่มีการส่งออกยางรถยนต์ลดลง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาอ้างว่าจีนมีการชดเชยให้เอกชนที่รวบรวมน้ำยางข้นเยอะ ทำให้ดัมพ์ราคายางในตลาดสหรัฐอเมริกา

Advertisment

ผู้สื่อข่าวระบุว่า การซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่าง กยท.กับเครือชิโนเคมฯเป็นบันทึกความตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนว่าด้วยความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ และเป็นการเริ่มต้นโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน ในปี 2558 ทั้งนี้สาเหตุที่ยกเลิกเนื่องจากบริษัทรับมอบไม่ทันตามกำหนดสัญญา

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คาดว่าในงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ซึ่งมีการดึงคู่ค้าจาก 50 บริษัททั่วโลกเข้าร่วมจะช่วยผลักดันให้เกิดการซื้อขายยางได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน เมื่อรวมกับผู้ประกอบการที่แจ้งความประสงค์จะซื้อยางโดยตรงจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 100,000 ตัน รวมทั้งหมด คาดว่าจะเกิดการซื้อขายยาง 300,000 ตันเร็ว ๆ นี้

ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.ได้เริ่มดำเนินการโรงงานแปรรูป 6 แห่งทุกภาค โดยให้แปรรูปยางจากน้ำยางเป็นยางก้อนเพื่อนำไปขนส่งทำเป็นล้อรถยนต์จะร่วมทุนกับสหกรณ์การยาง ทุนตั้งต้น 250 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนมาให้ กยท. 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้แปรรูป

โดยจะต้องควบคุมปริมาณผลผลิตไม่ให้ล้นตลาด และจำกัดพื้นที่ปลูก ขณะเดียวกันขณะนี้หน่วยงานรัฐได้สั่งซื้อยางไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นนโยบายใช้ยางในประเทศแล้วกว่า 70,000 ตัน จากยอดสั่งคงค้าง 1.4 แสนตัน เป้าหมาย 2 แสนตัน คาดว่าราคาจะขยับตัวสูงขึ้นเมื่อดูดซับออกจากตลาด

Advertisment