“สมคิด”สั่งเกษตรฯเร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรรับอุดหนุนจำนำยุ้งฉาง เร่งปรับแผนปฏิรูปเกษตรเฟส 1 ส.ค.นี้

“สมคิด”สั่งเกษตรฯเร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรรับอุดหนุนจำนำยุ้งฉาง เร่งปรับแผนปฏิรูปเกษตรเฟส 1 ส.ค.นี้ จ่อชงมาตรการพักหนี้เอาใจเกษตรกร 3 ล้านคน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานความคืบหน้าของผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เนื่องจากรัฐบาลเหลือเวลาทำงานเพียงแค่ 7 -8 เดือน ก็อยากจะให้การทำงานคืบหน้าไปด้วยความรวดเร็ว โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมาตรการช่วยเหลือเกษตกรหลายอย่างเพื่อผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้น เช่นการรับจำนำข้าวในยุ้งฉาง ซึ่งถือว่เป็นมาตรการที่ดี ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งการลงทะเบียนเกษตรกร เพื่อที่ชาวนาจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้เร็วที่สุดโดยให้ทางเกษตรจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันลงไปบอกข่าวแก่เกษตรกร

“ส่วนชาวนาที่ไม่มียุ้งฉาง จะทำอย่างไรให้สามารถมาลงทะเบียน และระบายข้าวโดยไม่ต้องมีข้าวตกค้างไว้ ซึ่งอาจให้สหกรณ์ต่างๆ เช่ายุ้งฉางและโกดัง เพื่อให้ข้าวขาวในภาคกลางมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ ในขณะที่สหกรณ์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐ เช่น โรง อบ ลานตาก เหล่านี้ต้องให้สมาชิกเข้ามาใช้ด้วย”

สำหรับโครงการปฎิรูปภาคการเกษตรฯ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิตจะเริ่มเฟสที่ 1 ได้ในกลางเดือน ส.ค.นี้ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอแผนมาแล้ว เช่น ลดการปลูกข้าวนาปรัง เพือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน ได้แก่ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ส่วนทางภาคใต้ อยากให้ดูเรื่องผลไม้เป็นหลักและพยายามอย่าให้เกิดต้นทุนกับผู้ที่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด เพราะถ้าต้องรับความเสี่ยงไม่มีใครอยากปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น

“ภาคเอกชนได้มาประสานกับทางผมแล้วว่าจะให้ความร่วมมือเต็มที่ รวมทั้งล้งต่างๆ จะเข้าหารือสถานการณ์ตลาดร่วมกับรัฐบาล แล้ววางแผนร่วมกัน อย่างตอนนี้กระทรวงพาณิชย์สามารถหาตลาดล่วงหน้าของลำใยได้ ดังนั้นสินค้าทุกตัวที่จะให้ทำการปลูกแทนที่ เขาจะต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าโดยจะเริ่มเฟสแรกประมาณ ส.ค.นี้” นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องของระบบสหกรณ์ ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรประมาณ 800 แห่ง ที่มีความเข้มแข็งสามารถเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ จึงสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ ทำแผนพัฒนาสหกรณ์กลุ่มนี้ให้แข็งแรงขึ้น โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดประชุมทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และขอความร่วมมือกับธนาคารของรัฐบาล เช่น ธ.ก.ส. ออมสินมาช่วยสนับสนุนขณะที่ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงินทุนจำนวนมากและมีการลงทุนหลักทรัพย์นั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติให้มีการทำหลักเกณฑ์ การลงทุน แต่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตร ดังนั้นกำกับให้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยควรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดุแลเป็นการเฉพาะ ร่วมด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อทำให้การบริหารงานของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายสมคิดเห็นด้วยกับมาตรการที่การยางแห่งประเทยไทย (กยท.) เสนอขอเพิ่มพื้นที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางจากปีละ 4 แสนไร่ เป็น 6 แสนไร่ โดยยางที่ปรับเปลี่ยนต้องเป็นยางที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป และคาดว่าการปรับเปลี่ยนพื้นที่นี้จะทำให้ราคายางเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า กิโลกรัม (กก.)ละ 60 บาท

ส่วนเรื่องปฏิรูปการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เสนอปรับเปลี่ยนการทำนาปรังครั้งที่ 2 และ 3 ไปปลูกพืชอื่น ได้แก่ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวม พื้นที่ 2 ล้านไร่ โดยให้พิจารณาตามความหมาะสมของดิน รวมไปถึงการทำตลาดกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะเชิญภาคเอกชนที่จะต้องการรับซื้อข้าวโพด มันสำปะหลัง และผลไม้อื่นๆ ร่วมกำหนดเป้าหมายการรับซื้อแต่ละปี ส่วนพืชที่กำลังมีปัญหาเนื่องจากผลผลิตมาก เช่น มังคุด ลองกอง ลำไย เป็นต้น ต้องเร่งหารือกับผู้รับซื้อว่ามีเป้าหมายตลาดเท่าไหร่

“นายสมคิด มองว่า หากสามารถจัดส่งผลไม้ไปถึงมือผู้บริโภคแบบเดลี่เวอรี่ ได้ในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ๆ ก็จะช่วยแก้ปัญหาล้นตลาดได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยได้แล้ว ดังนั้นจึงให้ทั้ง 2 หน่วยงาน หารือกับผู้ประกอบการ เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนให้เร็วที่สุด คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ส่วนในวันที่ 15 ส.ค.61 รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง ”

ส่วนทางด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ยางที่จะโค่นได้ จะเป็นต้นเก่าที่กรีดเกินกว่า 25 ปีขึ้นไป และยางใหม่ที่เพิ่งปลูกได้ 7 ปีรหรือมากกว่านั้นในพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านไร่ คตามแผนการนี้จะโค่นทิ้งให้หมดภายใน 5 ปีนี้จะใช้เงินจากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการส่งออกยาง(เซส) ชดเชยไร่ละ 1.6 หมื่นบาท หากประสบผลสำเร็จจะช่วยให้ราคายางปรับเพิ่มขึ้นกก.ละ 10 บาท กรณีเงินเซสไม่พอจะของบประมาณจากรัฐบาล

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวระบุอีกว่า ที่ประชุมได้ร่วมหารือกับ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงค์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งทั้งหมดได้ร่วมหารือกันคาดว่าจะหารือเรื่องของการพักหนี้เกษตรกร 3 ล้านคน คาดว่าจะต้องมีการหารือในรายละเอียดและนำเสนอต่อ ครม.ก่อนจึงจะสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ เร็วๆนี้