ยิ้มออก! อียู ยกเว้นมาตรการปกป้องชั่วคราว สินค้าเหล็กไทย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ได้ประกาศเปิดการไต่สวนเพื่อพิจารณาใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard Measure ซึ่งเป็นมาตรการที่เรียกเก็บอากรกับการนำเข้าสินค้าที่ทะลักเข้าสู่ EU จากประเทศต่างๆ โดยไต่สวนกับสินค้าเหล็กชนิดต่างๆ รวม 26 กลุ่มสินค้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 และต่อมาได้เพิ่มรายการสินค้าอีก 2 กลุ่มสินค้าในเดือนมิถุนายน 2561 รวมเป็น 28 กลุ่มสินค้านั้น ในเรื่องนี้ กรมการค้าต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหาข้อมูลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลโต้แย้งแก้ต่างถึง EC ซึ่งต่อมา EC ได้มีการประกาศใช้มาตรการปกป้องชั่วคราว (Provisional Safeguard Measure) ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกระบวนการไต่สวน กับสินค้าเหล็กรวม 23 กลุ่มสินค้า เช่น “เหล็กกล้าไร้สนิมแผ่นรีดเย็น” (Stainless Cold Rolled Sheet and Strips) และ “ลวดเหล็ก” (Non-Alloyed Wired) ไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมเหล็กภายในของสหภาพยุโรป

สำหรับประเทศไทยนั้น อยู่ในรายชื่อกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากการใช้มาตรการชั่วคราวดังกล่าวในทุกรายการสินค้า เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีปริมาณการนำเข้าไม่เกินร้อยละ 3 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของ EU โดยมาตรการชั่วคราวดังกล่าวเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

กระบวนการไต่สวนขั้นต่อไป EU จะจัดให้มีการประชุมเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียต่อผลการไต่สวนในช่วงกลางเดือนกันยายน 2561 โดยกรมการค้าต่างประเทศได้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อยืนยันประเด็นการขอให้ยกเว้นประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกใช้มาตรการ Safeguard สำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินและมีผลการไต่สวนในชั้นที่สุด ตามหลักเกณฑ์ของ WTO Safeguard Agreement ต่อไป

นายอดุลย์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการไทยมีความระมัดระวังในเรื่องปริมาณการส่งออกสินค้าเหล็กไป EU ด้วย เนื่องจากข้อมูลการนำเข้าของ EU พบว่าสินค้าเหล็ก 2 กลุ่มสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทย มีสัดส่วนการนำเข้าใน EU ค่อนข้างสูงกว่าสินค้ากลุ่มอื่น คือ Stainless cold rolled sheet and strips และ Non-alloyed Wired ซึ่งหากการนำเข้าเกินร้อยละ 3 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด EU ก็อาจกลับมาใช้มาตรการ Safeguard เพื่อเรียกเก็บอากรกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยได้เช่นกัน

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์